อาหารแห่งอนาคต "เนื้อสัตว์เทียม" จากห้องแล็บ ลดทรัพยากรการทำปศุสัตว์ดั้งเดิม

Logo Thai PBS
อาหารแห่งอนาคต "เนื้อสัตว์เทียม" จากห้องแล็บ ลดทรัพยากรการทำปศุสัตว์ดั้งเดิม
เนื้อสัตว์เทียมจากห้องแล็บเริ่มเข้าไปเป็นวัตถุดิบในภัตตาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ นักวิทย์คาดว่าจะกลายเป็นอาหารแห่งอนาคต ลดการใช้ทรัพยากรในการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิม

อาหารถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากคุณค่าทางอาหารแล้วอาหารยังถูกใช้เพื่อถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติด้วย แต่ทว่าในปัจจุบันจำนวนประชากรมนุษย์กำลังเพิ่มขึ้นสวนทางกับกำลังในการผลิตอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงส่งผลให้ในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้เพียงพอ

นอกจากนี้ ระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในปัจจุบันนั้นยังจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ในการเลี้ยงดูแหล่งทรัพยากรอาหารจำนวนมาก ขณะที่สัตว์จำพวกวัวก็มักปล่อยแก๊สมีเทนออกมาเสมอจากกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดแก๊สเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดค้นกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องแล็บขึ้นมา ซึ่งใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการผลิตเนื้อเทียมนี้อาศัยเซลล์ต้นแบบในการผลิตเพียงไม่กี่เซลล์ ซึ่งจะถูกควบคุมคุณภาพผ่านตู้เพาะเลี้ยงเซลล์ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้

หากว่ากันตามสถิติแล้วกระบวนการผลิตเนื้อจากห้องแล็บนี้ สามารถผลิตได้จำนวนมากเมื่อเทียบกับวิธีการทางปศุสัตว์ทั่ว ๆ ไปในพื้นที่ที่เท่ากัน อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอีกด้วย

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2023 ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตเแห่งหนึ่งมีมุมมองว่า เนื้อสัตว์ที่ออกมาจากห้องแล็บนั้นมีคุณภาพดีเหมือนเนื้อจริง ๆ เพียงพอที่จะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับภัตตาคารระดับเลิศหรูในสหรัฐฯ ได้ภายในอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ โดยล่าสุดก็ยังมีรายงานว่าทางบริษัทผู้ผลิตเนื้อจากห้องแล็บบางรายก็ได้เซ็นสัญญากับเชฟผู้มีชื่อเสียงด้านอาหารระดับไฮเอนด์ไปแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายสูงสุดของผู้ผลิตเนื้อจากห้องแล็บที่ต้องการให้มีการวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้นั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากพอสมควร เพราะว่าราคาของเนื้อจากห้องแล็บนั้น มีราคาแพงกว่าเนื้อที่มาจากระบบปศุสัตว์ทั่วไป พร้อมกับความไม่ไว้วางใจของผู้บริโภคในเนื้อจากห้องแล็บ

โดยจากการศึกษาเมื่อปี 2022 ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมได้รายงานผลจากการสำรวจกลุ่มคนตัวอย่างในสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคเนื้อสัตว์ 35% และผู้บริโภคมังสวิรัติ 55% นั้น มีมุมมองที่ไม่ดีต่อเนื้อที่ผลิตในห้องแล็บ

บริษัท UPSIDE Foods and GOOD Meat หนึ่งในผู้ผลิตได้เปิดเผยกับทางสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทางบริษัทได้วางแผนที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในร้านอาหารระดับไฮเอนด์ ซึ่งถือเป็นการเดิมพันว่าผู้บริโภคจะสามารถยอมรับอาหารที่มีราคาสูงแลกกับความประทับใจแรกที่มีต่อผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ โดยทางบริษัทคาดหวังว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื้อจากห้องแล็บนั้นจะสามารถเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าและธุรกิจชุมชนได้ในที่สุด

ที่มาข้อมูล: Reuters
ที่มาภาพ: Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง