เลือกตั้ง2566 : "ชวน" มอง ไม่แปลก "พท." ต่อรองตำแหน่ง ปธ.สภาฯ เหตุได้ ส.ส.ใกล้เคียง "กก."

การเมือง
31 พ.ค. 66
14:20
373
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : "ชวน" มอง ไม่แปลก "พท." ต่อรองตำแหน่ง ปธ.สภาฯ เหตุได้ ส.ส.ใกล้เคียง "กก."
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชวน" มองเพื่อไทยต่อรองตำแหน่ง "ปธ.สภา" ไม่ใช่เรื่องแปลก ชี้ มี ส.ส.ใกล้เคียงกัน แต่ย้ำหน้าที่ประธานต้องเป็นกลาง ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ระบุ ปกติพรรคลำดับ 1 กับ 2 จะเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน

วันนี้ (31 พ.ค.2566) นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาฯว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม เพราะตามปกติพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก จะได้เป็นประธานสภาฯ

แตกต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลเต็มใจ และไม่หักโควตารัฐมนตรีของพรรค ซึ่งเหตุผลที่รับทำหน้าที่ เพราะเห็นว่าก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่มีสภาฯมา 5 ปี จึงรับหน้าที่เป็นประธานสภาฯ แม้มีการประเมินว่า สภาฯอยู่ได้เพียง 1 - 2 ปี แต่ด้วยความร่วมมือจากสมาชิก ทำให้สามารถจนครบ 4 ปี

สำหรับพรรคที่มีเสียงข้างมาก ก็จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อรายละเอียดพรรคที่มีเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาลจะได้เป็นฝ่ายค้าน เช่น กรณีพรรคความหวังใหม่ที่มีคะแนนห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากช่วงหนึ่ง คือ 125 กับ 123 เสียง แต่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน

ดังนั้นพรรคความหวังใหม่จะตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีเอง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่มีประเด็นการต่อรองตำแหน่ง แต่ในกรณีที่มีการถกเถียงคะแนนของพรรคที่มาร่วมรัฐบาล มีความใกล้เคียงกัน คือ 151 กับ 141 จึงเป็นประเด็นใหม่ ที่ถูกพรรคเพื่อไทยนำมาต่อรอง และมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคะแนนไม่ห่างกันมาก

ส่วนที่จะใช้ตำแหน่งประธานสภาฯทำประโยชน์ให้พรรคการเมืองตัวเองนั้น นายชวน มองว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และบอกให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภา ว่าประธานสภาฯมีหน้าอะไรบ้าง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ประสภาฯ สามารถเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีได้

แต่ปัจจุบันสภาฯเลือกใคร ประธานสภาฯไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ และมีหน้าเสนอขึ้นมูลเกล้าฯเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปตามข้อกำหนด ประธานสภาฯต้องเป็นกลาง แม้เป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ก็ต้องลาออกและต้องเข้าใจกฎหมาย จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่จะถ่วงเวลาก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องมีกำหนดเวลาไว้อยู่แล้ว

นายชวน ยังบอกถึงเรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสมว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายที่จะเสนอ แต่ไม่มีข้อวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม

นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน พร้อมชี้แจงว่า การทำหน้าที่ของประธานสภาและรองประธานสภาฯ มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาฯคนที่หนึ่งรับผิดชอบ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเข้ามายังสภาทุกฉบับ โดยไม่ได้ผ่านประธานสภาฯ ,

ขณะที่ นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาฯคนที่ 2 จะดูเรื่องญัตติและกระทู้ถาม ดังนั้นร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอจะมีนายสุชาติเป็นผู้ดูแล และจากการปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาฯ พบว่า ขัดรัฐธรรมนูญแต่ยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง แต่ทุกคนยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้นายสุชาติไม่ได้บรรจุในวาระ

จากนั้นจึงส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข จึงยืนยันได้ว่า ไม่มีการกลั่นแกล้งเพราะมาไม่ถึงตนเอง แต่จากที่พิจารณามองว่า นายสุชาติ ใช้ดูุลยพินิจถูกแล้วจึงขอให้เข้าใจเรื่องนี้ว่า ที่มาวิจารณ์หรือตำหนิอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสการเมือง วันที่ 31 มี.ค.2566 “ธนาธร” ยัน “ศิริกัญญา” จะเป็น รมว.คลัง ที่ดี

เลือกตั้ง2566 : "วิษณุ" เผย 8 พรรคตั้งคณะทำงานฯ-ขอข้อมูล ขรก.ได้ แต่อย่าทำให้ลำบากใจ  

จับกระแสการเมือง : วันที่ 30 พ.ค.2566 “เสรีพิศุทธิ์" หนุน "ชลน่าน" นั่งประธานสภาฯ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง