ตำนาน “ดาบอาทมาฏ” เพลงดาบของยอดนักรบในอดีต

ศิลปะ-บันเทิง
29 มิ.ย. 58
08:31
866
Logo Thai PBS
 ตำนาน “ดาบอาทมาฏ” เพลงดาบของยอดนักรบในอดีต

ด้วยจุดเด่นการรุกรับที่รัดกุม รวมถึงความเชื่อที่ว่าเป็นเพลงดาบของยอดนักรบในอดีต ทำให้ชื่อของเพลงดาบอาทมาฏ ปรากฏขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสื่อบันเทิงทั้งละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หากจนถึงปัจจุบัน ที่มาของเพลงดาบนี้ยังคงเป็นตำนานที่หลายคนยังพยายามสืบค้น

การปาดป่ายคมดาบ วนรอบตัว จนคู่ต่อสู้ยากจะหาช่องโจมตีเป็นที่มาของชื่อคลุมไตรภพ แม่ไม้ใน “วิชาดาบอาทมาฏ” หนึ่งวิชาประจำตัวของ เหม ตัวเอกจากละครเรื่องข้าบดินทร์ และยังเป็นวิชาเดียวกันกับที่ตัวละครเอกในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ขุนรองปลัดชู สอนให้กองอาจสามารถในวิเศษไชยชาญ จนทำให้สามารถต้านทหารพม่าจำนวนมากไว้ได้แม้กำลังทหารอาสาเพียง 400 นายเท่านั้น ชื่อเสียงของวิชาดาบอาทมาฏทั้งในวงการศิลปการต่อสู้และในสื่อบันเทิง ยังทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจฝากตัวเป็นศิษย์ “สำนักอาทมาฏนเรศวร” ซึ่งถือเป็นต้นตำรับและผู้เผยแพร่วิชาดาบอาทมาฏในประเทศไทย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาฝึกวิชาดาบอาทมาฏเพราะเป็นสำนักปิดค คนที่เข้ามาจึงต้องผ่านการคัดเลือก โดยดูจากวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการเรียน เพราะนี่ไม่ใช่เป็นแค่การออกกำลังหรือฝึกป้องกันตัวเท่านั้น แต่วัตุประสงค์จริงๆ คือเพื่อฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตน

แม้เป็นการฝึกพื้นฐานอย่างการฟัน สะพายแล่ง เรียงหมอน ย้อนเกล็ดนาคราช หากเมื่อใช้ได้อย่างคล่องแคล่วคือที่มาของแม่ไม้คลุมไตรภพที่สามารถต้านการโจมตีได้รอบทิศ ปัจจุบันเจ้าสำนักดาบอาทมาฏคือ อาจารย์ชาติชาย อัชชนันท์ ที่สืบทอดต่อจากอาจารย์มาโนช บุญญมัด ที่เสียชีวิตในปี 2553 และเคยเล่าว่าได้เรียนวิชานี้จากครูดาบเร่ร่อนชื่อ ครูสุริยา ไม่ทราบนามสกุล

ตามตำนานเล่าว่าวิชานี้มีที่มาจากกองอามาฏและทหารคุมเท้าช้างในสมัยอยุธยา หากยังมีข้อขัดแย้งในประวัติศาสตร์ เพราะกองอามาฏเป็นเพียงฝ่ายสอดแนมและเป็นกองรบที่มาจากทหารอาสาชาวบ้าน ขณะเดียวกัน การวนดาบรอบตัวก็คล้ายกับแนวดาบทางภาคเหนือมากกว่าภาคกลางที่เน้นการฟันปะทะ ทุกวันนี้แม้ที่มาของวิชาดาบอาทมาฏยังไม่ชัดเจน หากอานุภาพในการใช้งานจริงก็เป็นที่ยอมรับในวงการดาบไทย

ในวงการศิลปการต่อสู้ไทยมีหลายทฤษฎีที่พยายามสรุปถึงที่มาของเพลงดาบอาทมาฏ แต่สำหรับผู้ฝึกฝนและนักดาบสายนี้ สิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นคือบทไหว้ครูที่มาพร้อมกับคำกล่าวบูชา สมเด็จพระนเรศวร เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และคอยกำกับให้ใช้วิชาในทางที่ถูกและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง