แนวทางคดี 14 นศ. หลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรก

การเมือง
6 ก.ค. 58
15:35
235
Logo Thai PBS
แนวทางคดี 14 นศ. หลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรก

วันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.2558) จะครบกำหนดการขอฝากขังผลัดแรกของนักศึกษา 14 คนหลังตัดสินใจไม่ยื่นประกันตัว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนและศาลพิจารณาว่าต้องควบคุมตัวในผลัดที่ 2 หรือไม่ และสุดท้ายหากสั่งฟ้อง ศาลทหารจะให้อุทธรณ์และฎีกาตามปกติ หรือจะตัดสินให้จบในศาลเดียว

การทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ทำให้นักศึกษาและประชาชน 14 คน ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน โดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ระบุว่า ต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งการตัดสินใจสู้คดีของทั้ง 14 คนในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.2558) จึงถูกแบ่งเป็น 2 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 นักศึกษายื่นขอประกันตัว ซึ่งหากศาลอนุญาต พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกเพื่อเข้าให้ปากคำภายหลัง ก่อนรวบรวมสำนวนคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร โดยนายนัชชชา กองอุดม และนายชาติชาย แกดำ นักศึกษาอีก 2 คนที่มีความผิดฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากกรณีรวมตัวหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เลือกช่องทางกฎหมายทางเลือกนี้

ทางเลือกที่ 2  หากนักศึกษาและผู้ถูกควบคุมตัวรวม 14 คน ไม่ยื่นขอประกันตัว ทางเลือกนี้อาจแบ่งเส้นทางคดีได้เป็น 3 ทางตามข้อมูลจากคณะทนายความทั้ง 14 คน

โดยเส้นทางที่ 1  เมื่อครบกำหนดการฝากขังผลัดแรก หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องควบคุมตัว นักศึกษาทั้ง 14 คนจะได้รับการปล่อยตัวทันที แต่พนักงานสอบสวนอาจเรียกไปสอบปากคำได้

เส้นทางที่ 2 พนักงานสอบสวนเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม เนื่องจากการทำสำนวนคดียังไม่เสร็จสิ้น สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ฝากขังผลัดต่อไปได้ ผลัดละ 12 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 48 วัน

กรณีนี้คณะทนายความของผู้ถูกกล่าวหาแจ้งว่าทั้ง 14 คนยืนยันจะขอคัดค้านการฝากขังในผลัดที่ 2 หากศาลรับคำขอคัดค้าน ทั้ง 14 คนจะถูกปล่อยตัวตามคำสั่งศาล แต่หากศาลไม่รับคำขอคัดค้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า อาจร้องขอต่อศาลทหารในวันฝากขังให้เปิดการพิจารณาคดีนี้โดยเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

"หากกลุ่มนักศึกษาไม่ได้รับความเป็นธรรมเฉพาะในกรณีนี้ ซึ่งนักศึกษาถือว่าการพิจารณาคดีโดยหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายไทย แม้แต่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลทหารก็ระบุว่าจะต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพราะฉะนั้นกลุ่มนักศึกษาจึงให้แจ้งว่า หากมีการฝากขังครั้งหน้าขอยืนยันว่าจะต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย" หัวหน้าทีมทนายความกล่าว

เส้นทางที่ 3 พนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีเสร็จสิ้นและอาจส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้องก็ได้ แต่หากพนักงานสอบสวนไม่ฟ้อง ทั้ง 14 คนถือว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่หากส่งฟ้องและทำสำนวนทันส่งฟ้องคดีได้ภายในผลัดแรก จะเข้าสู่การพิจารณาขั้นถัดไปของศาลทหาร

ทางเลือกของศาลจึงมี 2 ทาง คือรับหรือไม่รับคำฟ้อง หากศาลไม่รับฟ้อง ทั้ง 14 คนจะพ้นจากข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน โดยนายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กรณีนี้หากศาลรับคำฟ้องของพนักงานสอบสวน ศาลอาจสั่งไต่สวนมูลฟ้องเพิ่มเติมได้

"การนำบุคคลที่เป็นพลเรือนไปขึ้นศาลทหารนั้น ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักปฏิบัติของนานาประเทศ ซึ่งควรจะยกเลิก แต่ในแง่ของ คสช.ถ้ายังเห็นว่าสิ่งนี้ยังจำเป็นก็ต้องพยายามดำเนินการต่างๆเพื่อนำไปสู่การยกเลิก หรือทำให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด" กรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ระบุไว้ว่าในสถานการณ์ปกติ การพิจารณาคดีของศาลทหาร ยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้ แต่หากตีความว่าการบริหารประเทศภายใต้ คสช.เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การพิจารณาคดีจะสิ้นสุดในศาลเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง