อุตุเผยพายุ 2 ลูก ไม่เข้าไทยส่งผลปริมาณฝนน้อย

ภูมิภาค
7 ก.ค. 58
04:49
97
Logo Thai PBS
อุตุเผยพายุ 2 ลูก ไม่เข้าไทยส่งผลปริมาณฝนน้อย

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยพายุ 2 ลูก ไม่เข้าไทยส่งผลปริมาณฝนน้อย ขณะที่การระดมทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและพื้นที่การเกษตร ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ฝนตกไม่ถึงพื้นดิน แต่ระเหยกลับไปตั้งต้นใหม่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนน้อย ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอลดระบายน้ำอีกรอบ เพื่อรักษาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็ม หลังปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงน้อยอยู่

วันนี้ (7 ก.ค.2558) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยมีหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมว่า จากการติดตามพายุ 2 ลูกของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าเกิดขึ้นบริเวณทะเลประเทศฟิลิปปินส์ คือ พายุหลินฟา และพายุจันหอม จะพบว่าพายุทั้ง 2 ลูกจะไม่เข้าไทยแล้วคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 28

ขณะที่นายชัยยุทธ จารุพัฒนานนท์ หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจากได้ติดตามสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.ค. 2558 พบว่าเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 800,000 ลูกบาศก์เมตร น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับเขื่อนสิริกิติ์ น้ำไหลเข้าต่ำกว่าปี 2530 ถึง ร้อยละ 42 ดังนั้นเห็นว่าควรจะมีการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงเหลือ 5,000,000 ลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ลงเหลือ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวันเพื่อรักษาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษานิเวศน์

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานหากฝนทิ้งช่วงนานเป็นอุปสรรคต่อการทำการเกษตร

ด้านรศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัย สกว.หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในเดือน พ.ค.ของทุกปี กรมชลฯคาดการณ์ว่าฝนจะตกจึงปล่อยน้ำให้ทำนาไปประมาณ 1,000,000,000 ลูกบาศก์เมตร ตามเกณฑ์ปกติ แต่ทว่าปีนี้ฝนเกิดล่าช้าจนถึงเดือนมิ.ย. จนเป็นความเสี่ยงสะสมกลายเป็นวิกฤตการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ซึ่งทางที่จะแก้ปัญหาได้คือส่งเสริมอาชีพและชดเชยรายได้ที่เสียไป ที่สำคัญเกษตรกรต้องเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับการตลาด ใช้ข้อมูลและความรู้จัดการตัวเองมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง