ธกส.จ่อชง 3 มาตรการ 6 หมื่นล้านแก้ภัยแล้ง ทส.คาดอาจยืดเยื้อถึง 2 ปี-เร่งช่วยเกษตรกร

Logo Thai PBS
ธกส.จ่อชง 3 มาตรการ 6 หมื่นล้านแก้ภัยแล้ง ทส.คาดอาจยืดเยื้อถึง 2 ปี-เร่งช่วยเกษตรกร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติ 3 มาตรการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท พร้อมยืดหนี้ ให้เงินกู้ฉุกเฉินระยะสั้นและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 10 ปี ขณะที่รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ คาดการณ์ว่าภัยแล้งอาจกินเวลานานถึง 2 ปี โดยเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (8 ก.ค.2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งว่า ได้เน้นย้ำเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุของภัยแล้งและทำอย่างไรจะสามารถขุดลอกแหล่งน้ำในทุกภาค โดยเฉพาะพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำเพราะเมื่อฝนตกลงมาในเขื่อนจะถูกกักน้ำไว้ แต่ยังมีน้ำในส่วนใต้อ่างเก็บน้ำที่จะต้องมีที่กักเก็บด้วย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำฝน ทั้งฝนธรรมชาติและฝนเทียมพบว่า มีฝนน้อยมากและมีน้ำไหลลงเขื่อนเพื่อเก็บเป็นน้ำต้นทุนน้อยเช่นกัน ซึ่งได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยให้เตรียมรับมือสถานการณ์ความแห้งแล้งแล้ว หากยาวนานออกไปอีก 1-2 ปี โดยจะเสนอครม. จัดสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชนให้กับเกษตรกร โดยมาตรการนี้เชื่อว่าจะลดการตกงานและเพิ่มรายได้

นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธานในวันที่ 13 ก.ค.พิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งปี 2558 วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท หลังจากประเมินว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ล้านราย

โดยมาตรการช่วยเหลือนี้ เป็นลดความกังวลในภาระหนี้ก้อนเดิมที่เกษตรกรมีอยู่กับ ธ.ก.ส. รวมทั้งให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะมีเงินทุนเพียงพอในการประกอบอาชีพและมีเงินทุนสำหรับการปรับปรุงระบบการผลิตในยามฝนมาหรือต้องการใช้เงินทุนทั้งเงินทุนยามฉุกเฉิน และเงินทุนประกอบอาชีพระยะยาว

สำหรับมาตรการนี้ประกอบด้วย 1. มาตรการขยายเวลาชำระหนี้เดิมโดยจะขยายเวลาชำระหนี้เดิมให้เกษตรกร ลูกค้าธ.ก.ส.ที่ชำระหนี้ไม่ได้ขยายเวลาสูงสุดไม่เกิน 9 เดือน หรือกรณีพิเศษไม่เกิน 12เดือน 2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นวงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาคืนหนี้ไม่เกิน 12เดือน และ มาตรการที่ 3 คือสินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาทเพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตร เช่นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาแหล่งน้ำ หรือปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตใหม่ที่เหมาะสม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง