2 บก.“ภูเก็ตหวาน”ถูกทร.ฟ้องข่าวโรฮิงญา ศาลเริ่มไต่สวน 14 ก.ค.-รอยเตอร์ไม่ถูกฟ้อง

สังคม
9 ก.ค. 58
04:22
464
Logo Thai PBS
2 บก.“ภูเก็ตหวาน”ถูกทร.ฟ้องข่าวโรฮิงญา ศาลเริ่มไต่สวน 14 ก.ค.-รอยเตอร์ไม่ถูกฟ้อง

คดีเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน รายงานข่าวโรฮิงญา จนถูกกองทัพเรือฟ้องเมื่อปี 2557 จะเริ่มขึ้นศาล 14 ก.ค.นี้ ขณะที่กองทัพเรือเลี่ยงไม่ฟ้องรอยเตอร์ต้นตอข่าวนี้

วันนี้ (8 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบนาร์นิวส์ http://www.benarnews.org/ สื่อออนไลน์ที่มีการเผยแพร่ 5 ภาษา รายงานว่า “คดีภูเก็ตหวานฉายให้เห็นถึงเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย” ระบุว่า นายอลัน มอริสัน และน.ส.ชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน กำลังจะถูกพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นประมาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมนี้

สองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวของเอกชน ได้รายงานเหตุการณ์ความยากลำบากของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในภาคใต้ของไทย ซึ่งถูกกองทัพเรือของไทย ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท จะถูกพิจารณาคดีในสัปดาห์หน้านี้การพิจารณาคดีนายอลัน มอริสัน และ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร กำลังจะเริ่มขึ้นที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ หากถูกพิพากษาลงโทษ นายอลัน มอริสัน และ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร อาจถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลาเจ็ดปี และถูกปรับ ทั้งสองถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2557 ฐานละเมิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร กล่าวว่า เต็มใจที่จะรับโทษจำคุก เพื่อค้ำจุนหลักการว่าด้วยเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย

“เรากำลังถูกบีบให้ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการมีสื่อที่เสรีและเป็นเอกเทศ ทุกคน ยกเว้นรัฐบาล สามารถเห็นจุดบกพร่องในคดีนี้” นายอลัน มอริสัน ชาวออสเตรเลีย วัย 66 ปี ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน บอกแก่เบนาร์นิวส์

รอยเตอร์ไม่ถูกฟ้อง

คดีอาญานี้เป็นผลมาจากการที่ภูเก็ตหวานตัดสินใจตีพิมพ์บทคัดย่อของรายงานสืบสวนที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ในเดือนกรกฎาคม 2556 อีกครั้ง บทความนี้พาดพิงถึงบุคลากรของกองทัพเรือว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมาผ่านทางประเทศไทย

“การสืบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอาศัยการสัมภาษณ์ผู้ลักลอบขนคน และผู้รอดชีวิตจำนวนกว่ายี่สิบคน จากการเดินทางทางเรือ เผยให้เห็นถึงวิธีการที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยของกองทัพเรือไทย ทำงานอย่างเป็นระบบกับผู้ลักลอบขนคน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากชาวโรฮิงญา จำนวนมากที่หนีออกมาจากเมียนมา” บทคัดย่อดังกล่าวเขียน

บทความดังกล่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ของอังกฤษ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสืบสวนที่ทำให้รอยเตอร์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในหมวดการรายงานข่าวต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว

รอยเตอร์ยืนหยัดในข่าวที่ตนรายงาน หลังจากที่กองทัพเรือของไทยร้องเรียนเกี่ยวกับความถูกต้องของรายงาน

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เจ้าหน้าที่กองทัพเรือยังขู่ด้วยว่า จะฟ้องร้องสำนักข่าวรอยเตอร์ แต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจ และหันไปฟ้องบรรณาธิการของเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เกาะภูเก็ตแทน

การรายงานอย่างใกล้ชิด

ภูเก็ตหวานได้รายงานข่าวการค้ามนุษย์และชะตากรรมของชาวโรฮิงญามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นานมากก่อนที่จะเกิดกรณีอื้อฉาวขึ้นในปีนี้ในภาคใต้ของไทย โดยคนจำนวน 119 คน รวมทั้งนายทหารยศพลตรีคนหนึ่งของกองทัพบก ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบขนมนุษย์

นายอลัน มอริสัน และ น.ส. ชุติมา รู้เรื่องเกี่ยวกับการค้าชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้สัญชาติที่หนีการถูกข่มเหงในเมียนมา ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นครั้งแรกในระหว่างการเดินทางตามชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2551

นับแต่นั้นมา ทั้งสองได้ติดต่อกับคนจำนวนมาก และตีพิมพ์เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาเหล่านั้น ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วง “ฤดูการเดินเรือ” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เมื่อเรือผู้อพยพเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง หลังจากหมดฤดูมรสุมในแต่ละปี

บุคคลทั้งสองถูกตั้งข้อหาก่อนที่ทหารไทยจะยึดอำนาจการปกครอง ในการปฏิวัติเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557

รัฐบาลทหารไม่ได้เข้ามาแทรกแซงคดีภูเก็ตหวาน แต่ได้กวดขันเสรีภาพในการพูด เมื่อเดือนที่แล้วในกรุงเทพฯ ทางการของไทยได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารจำนวน 14 คน และปิดงานเกี่ยวกับสื่อจำนวนสามงานที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

“รัฐบาลไทยยังมีโอกาสที่จะระงับเรื่องนี้ลงอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี แต่เวลาใกล้จะหมดลงแล้ว” นายอลัน มอริสัน บอกแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้ารัฐบาลต้องการสละชื่อเสียงของรัฐบาล และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อมุ่งมั่นที่จะรักษาหน้าไว้ จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เราหวังว่าสามัญสำนึกจะมีชัยในที่สุด”

ความสนใจจากต่างประเทศ

คดีหมิ่นประมาทคดีนี้ได้ทำให้เว็บไซต์นี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ภูเก็ตหวานเกือบจะต้องปิดตัวลงเมื่อปีที่แล้วเพราะปัญหาด้านการเงิน ก่อนที่บรรณาธิการทั้งสองจะถูกกองทัพเรือสั่งฟ้อง

ในการต่อสู้กับคดีนี้ ทั้งสองนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกลุ่มต่างๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายและสิทธิของชุมชนอันดามัน และองค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายในการปกป้องสื่อ ในกรุงลอนดอน

ทีมทนายความของคู่นี้ประกอบด้วยทนายความไทยจำนวนกว่า 10 คน จากกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, iLaw และ SR Law

“การลิดรอนการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ที่ที่ซึ่งการละเมิดการแสดงออกอย่างเสรีกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่รัฐบาลทหารได้เข้มงวดมากขึ้นกับประชาสังคมและสื่อ” แคริน การ์ลีการ์ ผู้อำนวยการโครงการฟรีเอ็กซ์เพรสชั่น ที่ PEN American Center กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน

“ภูเก็ตหวานเป็นหนึ่งในแหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียวเท่านั้นในไทย ที่มุ่งมั่นในการรายงานเรื่องราวของชาวโรฮิงญา ชะตากรรมของคนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่นานาชาติต่างวิตกกังวลกัน” เธอเสริม

เมื่อเดือนที่แล้ว บทบรรณาธิการบทหนึ่งในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติคดีต่อนายอลัน มอริสัน และ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร และตำหนิโทษเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือที่ฟ้องร้องบุคคลทั้งสอง

“การที่พลเมืองคนหนึ่งหรือธุรกิจหนึ่งจะต้องเผชิญโทษจำคุก เพราะวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม” บทบรรณาธิการนั้นกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง