"เห็ดขี้ควาย" โอสถลวงจิต มี-เพาะขาย-จำหน่าย ปรับครึ่งล้าน-คุก 15 ปี

สังคม
28 มี.ค. 67
17:32
3,743
Logo Thai PBS
"เห็ดขี้ควาย" โอสถลวงจิต มี-เพาะขาย-จำหน่าย ปรับครึ่งล้าน-คุก 15 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "เห็ดขี้ควาย" เห็ดอันตราย กินแล้วมึนเมา ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรง เสี่ยงตายได้ ใครมีไว้ในครอบครองผิดกฎหมายอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ปรับอีกครึ่งล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบนครบาล จับกุมผู้ก่อเหตุเป็นชายวัย 24 ปี เปิด "ฟาร์มผลิตเห็ดขี้ควาย" ส่วนตัว ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ "วิมุตติ" จำหน่ายทางออนไลน์ให้กับประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และจำหน่ายเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย

"เห็ดขี้ควาย" พิษร้ายเสี่ยงตายได้

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae ชื่อสามัญ "เห็ดขี้ควาย" หรือบางแห่งเรียก "เห็ดโอสถลวงจิต" Buffalo dung Mushroom, Psilocybe mushroom แต่ในภาษานักเที่ยวเรียกเห็ดเมา Magic Mushroom 

มีลักษณะหมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 ซม. ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน ก้านมีความยาว 4.5-8 ซม. ความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็กๆ

ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควาย

ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควาย

ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควาย

"เห็ดขี้ควาย" มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง "เห็ดขี้ควายหรือเห็ดเมา" มีสารพิษที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาหรือประสาทหลอน ปัจจุบันพบว่ามีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่ม

ชาวบ้าน คนทั่วไป จะรู้ว่าเห็ดชนิดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทานเด็ดขาด
ภาพประกอบข่าว : ห้ามบริโภคเห็ดขี้ควายเด็ดขาด

ภาพประกอบข่าว : ห้ามบริโภคเห็ดขี้ควายเด็ดขาด

ภาพประกอบข่าว : ห้ามบริโภคเห็ดขี้ควายเด็ดขาด

เมื่อรับเข้าร่างกายไปแล้ว ภายใน 10-30 นาที จะมีอาการกระวนกระวาย เครียด มึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และมักจะหาว กล้ามเนื้อกระตุก สั่น หนาวๆ ร้อนๆ แขนขาเคลื่อนไหวไม่ได้ ริมฝีปากชา คลื่นไส้ โดยทั่วไปไม่อาเจียน

ภายใน 30-60 นาที จะมีอาการผิดปกติของตา เช่น เห็นเป็นสีต่าง ๆ ขณะที่ปิดตา ระบบการรับรู้เรื่องเวลาผิดไป มีอาการเคลิ้มฝัน และการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า มีความรู้สึกเหมือนฝัน และเปลี่ยนบุคลิก ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ถูกต้อง เหงื่อแตก หาว น้ำตาไหล หน้าแดง ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรง

ภาพประกอบข่าว : คนกินเห็ดขี้เมามีอาการอาเจียน

ภาพประกอบข่าว : คนกินเห็ดขี้เมามีอาการอาเจียน

ภาพประกอบข่าว : คนกินเห็ดขี้เมามีอาการอาเจียน

ใน 1-2 ชั่วโมง ความผิดปกติของตาจะเพิ่มมากขึ้น มีอาการฝันต่าง ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปใน 2-4 ชั่วโมง แต่บางรายอาการอาจจะนานถึง 6-8 ชั่วโมง อาการจะหายไปเองโดยไม่มีอาการค้าง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลีย ในเด็กอาการที่พบมีม่านตาขยาย ไข้สูง โคมา และมีอาการชัก

รู้หรือไม่ "เห็ดขี้ควาย" อันตรายกว่ากัญชา

หลังจากมี พ.ร.บ.ปลดล็อกกัญชาปี 2565 "เห็ดขี้ควาย" กลับเป็นกระแสให้ชาวบ้านเพาะเห็ดขี้ควายมากขึ้น เพราะหวังว่าจะถูกปลดล็อกเช่นเดียวกับกัญชา เนื่องจากมีการนำมาใช้คล้ายกับกัญชา เช่น ปรุงอาหารเพิ่มรสชาติ ใช้เป็นสมุนไพรแพทย์แผนไทย และมีงานวิจัยจากต่างประเทศที่ระบุว่า ประโยชน์ของสารในเห็ดขี้ควายนั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการจากโรคซึมเศร้าได้ 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.ยุติธรรมในขณะนั้น ได้เคยสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศึกษาประโยชน์ของเห็ดขี้ควาย แม้ราคาของเห็ดขี้ควายจะสูงตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น หากมองในมิติเศรษฐกิจ อาจสร้างอาชีพในอนาคตให้เกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่ได้ แต่แพทย์แผนไทยออกโรงเตือนว่า ประโยชน์ของเห็ดขี้ควายยังมีไม่มากเท่ากัญชา และอันตรายมีมากกว่าด้วย เป็นการยากถ้าจะปลด "เห็ดขี้ควาย" ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เห็ดขี้ควาย เป็นพืชที่ให้สาร "psilocybine" หรือ "psilocine" ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าวทั้งดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

โทษ "เห็ดขี้ควาย" ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

  1. ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท 

    ถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำดังต่อไปนี้ จะระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,500,000 บาท

    (1) การกระทำเพื่อการค้า 
    (2) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
    (3) การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี
    (4) การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
    (5) การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
    (6) การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

  2. ผู้เสพเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

  3. ผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
    (1) ถ้าการกระทำความผิดได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 1,500,000 บาท
    (2) ถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หรือเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทำความผิดทางอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทำความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000 - 5,000,000 บาท
  4. ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้น
  5. โฆษณาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (1) เจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณา ทำการโฆษณาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ผู้กระทำต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้โฆษณา ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

  6. ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อเสพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  7. ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (1) ผู้ใดจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 700,000 บาท

  8. ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (1) จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

    ภาพประกอบข่าว : เห็ดขี้ควายแห้ง

  9. ผู้ใดนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เสื่อมคุณภาพต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (1) จำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เสื่อมคุณภาพต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  10. ผู้ควบคุมยานพาหนะผู้ใดไม่จัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้ยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 สูญหายหรือมีการนำเอาไปใช้โดยมิชอบ ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน50,000 บาท

  11. ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตเฉพาะคราวในแต่ละครั้งที่นำเข้าหรือส่งออก ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน5,000 บาท

  12. ผู้รับอนุญาตผลิตหรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท

ที่มา : กองควบคุมวัตถุเสพติด คณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง