สถานทูตปิดเพิ่มอีก-เตือนนักท่องเที่ยวระวัง ชี้ส่ง“อุยเกอร์”ไปตุรกีกระทบจีน-ไปจีนกระทบใต้

ต่างประเทศ
10 ก.ค. 58
01:50
120
Logo Thai PBS
สถานทูตปิดเพิ่มอีก-เตือนนักท่องเที่ยวระวัง ชี้ส่ง“อุยเกอร์”ไปตุรกีกระทบจีน-ไปจีนกระทบใต้

ตำรวจปราบจลาจลของตุรกีเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ที่รวมตัวประท้วงหน้าสถานเอกอัคราชทูตของจีน ในกรุงอังการา เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวมุสลิมอุยเกอร์กว่าร้อยคน กลับไปยังจีน ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนคัดค้านแล้ว เพราะเกรงว่าชาวอุยเกอร์จะถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายในจีน ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ของตุรกี แจ้งปิดทำการฝ่ายกงสุลเพิ่มอีก 1 วัน เพราะสถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน ขอให้ประชาชนงดเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตชั่วคราว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบเหตุการณ์ทำลายสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำนครอิสตันบูล ที่ถูกบุกรุกและทรัพย์สินเสียหายแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ

วานนี้ (9 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจปราบจลาจลของตุรกี ยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตของจีน ในกรุงอังการา เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวมุสลิมอุยเกอร์ 115 คน กลับไปยังจีน สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วงที่คัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ส่งผู้อพยพชาวมุสลิมอุยเกอร์ ซึ่งมีเชื้ัอสายเติร์กไปให้จีน โดยการสลายการชุมนุมดังกล่าว ทำให้ผู้ประท้วงบางคนได้รับบาดเจ็บจากแก็สน้ำตา

สำนักข่าวซีซีทีวีของจีนรายงานว่า การประท้วงเกิดขึ้่นหลังจากนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวปกป้องการตัดสินใจการส่งกลับผู้อพยพชาวอุยเกอร์ไปให้กับจีน แม้จะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่แสดงความวิตกว่า ผู้อพยพชาวอุยเกอร์เหล่านี้จะต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่เลวร้ายในจีน

สำนักข่าวซีซีทีวียังรายงานโดยอ้างคำกล่าวของโฆษกกลุ่มผู้ประท้วงที่ว่า การปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อชาวอุยเกอร์ในจีน กำลังขยายวงเข้ามาถึงพรมแดนของไทยแล้ว

ซีซีทีวีระบุอีกว่า การประท้วงต่อต้านจีนในตุรกีที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความเกี่ยวพันกับพรรคขบวนการชาตินิยม ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของตุรกี

ส่วนความเคลื่อนไหวที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตแจ้งปิดทำการฝ่ายกงสุลเพิ่มอีก 1 วัน เนื่องจาก สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน และขอให้ประชาชนงดเดินทางมาที่สถานเอกอัครราชทูตเป็นการชั่วคราว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ทำลายสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำนครอิสตันบูล ที่ถูกบุกรุกและทรัพย์สินเสียหายแล้ว โดยยืนยันว่าไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เชิญเอกอัครราชทูตตรุกี ประจำประเทศไทยเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายตุรกีได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอังการา แล้ว นอกจากนี้ยังเตือนให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อาศัยอยู่ในตุรกี เพิ่มความระมัดระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขณะที่ตำรวจตุรกีได้รับคำสั่งให้เข้าดูแลสถานการณ์ที่หน้าสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ในนครอิสตันบูลหลังจากสถานกงสุลได้รับความเสียหายจากการประท้วง

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอบันทึกเหตุการณ์ ถูกเผยแพร่ออกมา เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ เผยให้เห็นมวลชนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปทุบทำลายประตูและกระจกรอบอาคารสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำนครอิสตันบูล รวมถึงเข้าไปทำลายสิ่งของและเอกสารต่างๆ ภายในสำนักงานคาดว่า อาจเกิดจากจากกรณีที่รัฐบาลจีน สั่งห้ามชาวอุยเกอร์ในจีน ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอน สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมในตุรกี จนเกิดการประท้วงต่อต้านจีน

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า ทางการไทยนำตัวชาวอุยเกอร์ร์ที่หลบหนีเข้าไทยผิดกฎหมาย จำนวน 90 คน ส่งกลับไปให้จีน ทำให้ชาวตุรกีส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจต่อไทยที่ร่วมมือกับจีน จึงบุกทำลายสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในนครอิสตันบูล

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี ประกาศผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียกลุ่มหนึ่งถูกทำร้ายร่างกายในนครอิสตัลบูล หลังก่อเหตุเข้าใจผิดว่าเป็นชาวจีน แต่เจ้าหน้าที่ตุรกีสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

สถานเอกอัครราชทูตไทย จึงขอประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปตุรกีในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เดินทางเป็นกลุ่ม ควรเพิ่มความระมัดระวังในทุกๆ เมืองที่เดินทางไปเยือน อีกทั้งหัวหน้าคณะนักท่องเที่ยวหรือทัวร์ไกด์ไม่ควรใช้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการชุมนุม ไม่ถ่ายภาพการชุมนุม รวมถึงไม่ทำให้กลุ่มเป็นจุดสนใจ

ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ประกาศปิดทำการในวันนี้ และเปิดโทรศัพท์สายด่วนสำหรับกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หมายเเลขโทรศัพท์ +90-533-641-5698 แต่หากเป็นงานด้านกงสุล สามารถติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ +90 312 437 4318

สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปตุรกี ตั้งแต่ต้นปี มีประมาณ 1,000 คน ลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่มีกว่า 5,400 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวตุรกีมาไทย มีมากกว่า 34,000 คนในช่วง 6 เดือนแรกของปี

ด้านนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งห้ามนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปตุรกี และได้กำชับให้บริษัททัวร์ดูแลนักท่องเที่ยวตามคำแนะนำของสถานทูตไทย

ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน สั่งให้ติดต่อกับแรงงานไทยในตุรกีที่มีอยู่ 551 คนแล้ว ทุกคนปลอดภัยดี และย้ำให้ดูแลแรงงานไทยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุดไทยพีบีเอสได้ไปตรวจสอบ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา พบว่า ยังมีชาวอุยเกอร์จำนวนหนึ่งที่ไม่ถูกผลักดันออกนอกประเทศ และมีชาวอุยเกอร์ 38 คน ถูกส่งตัวกลับไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้ ยังไม่รวมผู้หญิงอุยเกอร์จากบ้านพักสงขลา จำนวน 80 คน ซึ่งครบกำหนดการควบคุมตัว และส่งตัวขึ้นศาลจังหวัดนาทวีเรียบร้อยแล้ว และยังคงเหลือชาวอุยเกอร์เพศชาย อยู่ในห้องกักตม.สะเดา เพียง 23 คน จากทั้งหมด 270 คน นับตั้งแต่เริ่มควบคุมตัวเมื่อปีที่แล้ว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หากรัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยเกอร์กลับไปยังประเทศจีน อาจส่งผลให้เกิดปัญหากับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งชาวมุสลิมทั่วโลก แต่หากส่งตัวไปยังประเทศตุรกี อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจ การซื้อขายสินค้าการเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ไทยและจีนเริ่มตกลงกันในรัฐบาลนี้ด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง