กฎหมายปราบปรามทุจริตฉบับใหม่มีผลแล้ว-นิติบุคคลเอี่ยวทุจริตมีสิทธิ์ถูกปรับนับร้อยล้าน

การเมือง
14 ก.ค. 58
12:42
3,525
Logo Thai PBS
 กฎหมายปราบปรามทุจริตฉบับใหม่มีผลแล้ว-นิติบุคคลเอี่ยวทุจริตมีสิทธิ์ถูกปรับนับร้อยล้าน

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 10 ก.ค.2558 เอาผิดคลอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนโทษตัดสินประหารชีวิตและคดีสินบนให้ศาลตัดสิน บริษัทที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการของรัฐต้องรับผิดด้วย

นายวิชากล่าวในการแถลงข่าววันนี้ (14 ก.ค.2558) ว่า จุดประสงค์ของการแก้ พ.ร.บ. เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) ทำให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ

ทั้งนี้ สาระสำคัญในกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ คือ การกำหนดโทษสำหรับความผิดกรณีเรียกรับสินบน ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้น มาตรา 123/2 กำหนดบทลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียกรับสินบน มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาทหรือประหารชีวิต

ทั้งนี้นายวิชาอธิบายว่า โทษประหารชีวิตนั้นมีกำหนดอยู่แล้ว ตามฐานความผิดกรณีเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ได้กำหนดตัวผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม คือ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และยกบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้ มีการปรับเปลี่ยนเฉพาะในส่วนของอัตราโทษปรับที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสม
 
"กรณีโทษประหารชีวิตนั้น ป.ป.ช.ยืนยันว่าจะเป็นการใช้ดุลพินิจของศาล ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. เพราะประเด็นนี้ ในชั้นการพิจารณาของของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เห็นว่ายังต้องให้คงการใช้บทลงโทษแบบนี้ เป็นแบบปิดกว้างไว้ เพราะมองว่า ประเด็นเกี่ยวกับสินบน ไม่ว่าจะเรียกรับหรือให้สินบนนั้น เป็นเรื่องผลกระทบที่เสียหายที่มิอาจปล่อยทิ้งได้" นายวิชากล่าว

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับ "การกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่" ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 123/5 วรรค 2 กำหนดให้มีฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ขึ้น เนื่องจากผลโยชน์ที่เกิดจากการให้สินบน เช่น การได้รับสัมปทานในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แท้จริงแล้วผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการติดสินบนดังกล่าวก็คือนิติบุคคลนั้นเอง กฎหมายใหม่จึงกำหนดว่าหากลูกจ้างหรือตัวแทนของนิติบุคคลใดให้สินบนเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือต่างประเทศ และทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล ให้นิติบุคคลนั้นมีความผิดด้วย โดยถือว่าไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน

ส่วนการกำหนดโทษของนิติบุคคลนั้นให้เป็นโทษปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของนิติบุคคลที่ไม่อาจรับโทษจำคุกได้ โดยมีอัตราโทษปรับจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลนั้นได้รับ ซึ่งกรณีที่เป็นการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่อาจทำให้มีโทษปรับทางการเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท มาตรการลงโทษทางการเงินนี้จะทำให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลไม่ควรได้กลับคืนและเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด
 
นอกจากนี้ มีประเด็นเกี่ยวกับ "ฐานความผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศเรียกรับสินบน" ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในมาตรา 123/2 ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ มีความผิดหากมีการเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นการกำหนดฐานความผิดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UNCAC และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ตามหลักความผิดอาญาสองรัฐ (Dual - Criminality)

กฎหมายฉบับใหม่ยังได้ระบุถึง "หลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า" (Value- Based Confiscation) ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/6 - 123/8 กำหนดให้การริบทรัพย์ในคดีทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่ได้มาแทนเนื่องจากมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแปลงสภาพทรัพย์ไป และในกรณีที่ไม่สามารติดตามทรัพย์คืนมาได้ หรือการติดตามเป็นไปได้โดยยาก ศาลสามารถกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินและให้มีการชำระเป็นเงินหรือริบทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากันได้ หลักการนี้จะเป็นการสกัดการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

และสุดท้ายเรื่อง"อายุความ" ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 74/1 กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตามพ.ร.บ. ป.ป.ช. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล อายุความจะสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ จะไม่นำเรื่องอายุความมาใช้บังคับ ซึ่งการแก้ไขนี้มิได้เป็นการขยายอายุความในคดีทุจริตแต่อย่างใด แต่เป็นการยกเว้นมิให้นับอายุความในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้ได้บัญญัติไว้ในพรป. ป.ป.ช. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) อยู่แล้ว
 
โดยกฎหมายใหม่ได้เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมถึงการดําเนินคดีอาญาในทุกขั้นตอน ทั้งในกระบวนการ ไต่สวนข้อเท็จจริง กระบวนการฟ้องคดี กระบวนการพิจารณาของศาล รวมถึงกระบวนการภายหลังศาลมีคำพิพากษาด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ได้ในคดีที่การสอบสวนปัจจุบัน ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงคดีที่ออกหมายจับ แต่จะไม่มีผลต่อคดีที่ดำเนินการจบไปแล้ว

"การปรับแก้ครั้งนี้ เป็นการยกเอาประมวลกฎหมายอาญามาทั้งหมด แต่กฎหมายของ ป.ป.ช.จะครอบคลุมไปถึงคำว่า 'เจ้าพนักงานของรัฐ' ซึ่งรวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ, นายกรัฐมนตรี , สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ , สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล, เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ, เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้มีกำหนดไว้ชัดเหมือน กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับนี้

"กรณีการเอาผิดกับนิติบุคคล ซึ่งหมายถึง บริษัท, ห้างร้าน, ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น เป็นเพราะเราพบว่า คดีการให้สินบนโดยเฉพาะในต่างประเทศส่วนมากเป็นบริษัทใหญ่ที่พัวพันกับการให้สินบน แต่ยังไม่เคยมีการบัญญัติเป็นทางการชัดเจนว่าต้องมีความผิดไปด้วย รวมถึงบุคคลที่เป็นนอมินี ผู้เแทนกรรมการ บริษัท ที่กระทำไปเพื่อประโยชน์ มีการให้สินบน จูงใจ หรือ ประวิงเพื่อให้เกิดการกระทำโดยไม่ชอบ หากพบว่า นิติบุคคลนั้น ไม่ได้มีกลไกลควบคุมดูแลภายใน ก็ต้องมีความผิดไปด้วย และจะมีโทษปรับเป็นจำนวน 1 เท่า ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหาย หรือ ของประโยชน์ที่บริษัทนั้นๆ จะได้รับ ขึ้นอยู่กับการการคำนวนของศาลว่าหน่วยงานรัฐมีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด อยู่ที่การใช้ดุลพินิจของศาล ซึ่ง ป.ป.ช.เชื่อว่า กฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมา จะทำให้ยุติการให้สินบนได้อย่างจริงจัง และทำให้ตรวจสอบเส้นทางเดินของเงินได้ชัดเจนมากขึ้น" นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ สนช.ที่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งองค์การสหประชาชาติมีความพึงพอใจที่ไทยออกกฎหมายฉบับนี้เพราะถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการพิจารณาคดีการเรียกรับสินบน หรือให้สินบน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง