3 ธุรกิจใหญ่แจงเหตุผลใช้น้ำประปามากสุดติด 10 อันดับ กปน.

เศรษฐกิจ
17 ก.ค. 58
12:44
2,888
Logo Thai PBS
 3 ธุรกิจใหญ่แจงเหตุผลใช้น้ำประปามากสุดติด 10 อันดับ กปน.

เมื่อประเทศไทยเผชิญกับภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคการเกษตรและการผลิตน้ำประปา คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือน้ำหายไปไหนและใครเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุด จากข้อมูลของการประปานครหลวง (กปน.) ในเดือนมิถุนายน 2558 ผู้ใช้น้ำรายใหญ่ 10 อันดับแรกในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการมีทั้งสนามบิน นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า ฯลฯ องค์กรที่ติดอันดับผู้ใช้น้ำรายใหญ่เปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงสาเหตุที่ใช้น้ำปริมาณมากและการเตรียมพร้อมรับมือหากน้ำประปาขาดแคลน

จากข้อมูลของ กปน. ผู้ที่ใช้น้ำมากที่สุด 10 อันดับในเดือนมิถุนายน 2558 ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปู ใช้ปริมาณน้ำมากที่สุด คือ 930,342 ลบ.ม. 2.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ( 620,881 ลบ.ม.) 3.ท่าอากาศสุวรรณภูมิ (559,695 ลบ.ม.) 4.โรงไฟฟ้าบางบ่อของบริษัทอีสเทิร์นเพาเวอร์ แอนด์ อิเล็คทริค จำกัด (281,501 ลบ.ม.) 5.บริษัทลัคกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด (261,548 ลบ.ม.) 6.การประปาส่วนภูมิภาค สาขาธัญบุรี จ.ปทุมธานี (175,708 ลบ.ม.) 7.นิคมอุตสาหกรรมบางชัน (159,809 ลบ.ม.)  8.โรงพยาบาลศิริราช (139,057 ลบ.ม.) 9.บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด และ 10.บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (129,979 ลบ.ม.)

"ไทยพีบีเอสออนไลน์" ได้สอบถามไปยังองค์กรที่ติดอันดับการใช้น้ำสูงสุดถึงสาเหตุที่มีการใช้น้ำในปริมาณมาก และได้รับการชี้แจง 3 องค์กร คือ  นิคมอุตสาหกรรมบางปู ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ลัคกี้เท็กซ์ (ไทย) ว่าสาเหตุมาจากการขยายตัวทางธุรกิจและทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบ โดยผู้บริหารทั้ง 3 องค์กรยืนยันว่าที่ผ่านมาพยายามลดการใช้น้ำผ่านมาตรการและเทคโนโลยีต่างๆ แต่ยังทำได้ไม่สมบูรณ์นักและพร้อมให้ความร่วมมือในการประหยัดและใช้น้ำอย่างคุ้มค่าในช่วงวิกฤตแล้งปีนี้

นายประทีป เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ทางนิคมอุตสาหกรรมบางปูใช้น้ำประปาจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ว่า ทางนิคมฯ ใช้น้ำประปาเฉลี่ย 28,000-30,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือเดือนละ 900,000 ลบ.ม. ตามที่ กปน.ระบุไว้จริง แต่ก่อนหน้านี้นิคมฯ ซึ่งมีพื้นที่ 5,000 ไร่ ใช้น้ำส่วนหนึ่งจากบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้เอง 24 บ่อ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กปน. กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอให้ปิดบ่อบาดาลเนื่องจากปัญหาแผ่นดินทรุด ทางนิคมฯ จึงปิดบ่อบาดาลเหลือไว้เพียง 11 บ่อ สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน

นายประทีปกล่าวว่าปริมาณการใช้น้ำของนิคมฯ มีมากขึ้น ซึ่งเป็นเพราะภาคอุตสาหกรรมต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี และประเภทสินค้าที่ผลิตในนิคมฯ ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาสระผม น้ำยาล้างจาน อาหารกระป๋อง ทำให้ในช่วง 2-3 ปีนี้ ทางนิคมฯ ใช้น้ำเพิ่มขึ้นจาก 25,000 ลบ.ม. เป็น 28,000 ลบ.ม.ต่อวัน นอกจากนี้ ทางนิคมฯ ยังมีโรงไฟฟ้าของตนเองซึ่งต้องใช้น้ำจำนวนมากในการผลิตกระแสไฟ

"ขณะนี้เราไม่ได้ใช้น้ำบาดาลเลย เพราะ กปน.แจ้งว่า จากการประเมินข้อมูลจะไม่เกิดภาวะขาดน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา  แต่หากเกิดภาวะขาดแคลนจริง ทางนิคมฯ จะใช้น้ำบาดาลที่มีสำรองอยู่แทน ซึ่งจะสูบน้ำจาก 11 บ่อได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อชั่วโมงหรือประมาณ 24,000-28,000 ลบ.ม.ต่อวัน และถ้าไม่เพียงพอจริงๆ ต้องหาน้ำจากแหล่งอื่นมาทดแทน เพราะถึงอย่างไรการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและโภคของประชาชนต้องมาเป็นอันดับแรก" ผอ.นิคมอุตสาหกรรมบางปูระบุ

นายประทีปกล่าวถึงมาตรการประหยัดน้ำขององค์กร โดยเฉพาะช่วงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า ทางนิคมฯ ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว โดยได้รณรงค์ให้ทุกธุรกิจที่อยู่ในนิคมฯ หันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้มาตรการ 3R ได้แก่ การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) การลดการใช้ (Reduce) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งพบว่าเมื่อเทียบต้นทุนการผลิตน้ำต่อหน่วยการผลิตแล้ว ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจในนิคมฯ ใช้น้ำลดลง เช่น เดิมผลิตภัณฑ์ 1 ล้านชิ้น ใช้น้ำ 1 ล้าน ลบ.ม.ในกระบวนการผลิตก็ลดลงเหลือ 7-8 แสน ลบ.ม.หรือร้อยละ 20-30 ที่สำคัญคือทางนิคมฯ ได้นำน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้ามาบำบัดจนได้มาตรฐานมาใช้เขตนิคมฯ วันละ 5,000 ลบ.ม.

"น้ำถือเป็นต้นทุนอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ฉะนั้น กลุ่มธุรกิจจึงหาทางลดการใช้น้ำ เพราะถ้ายิ่งใช้น้ำมากก็ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม ทั้งนี้ ทางนิคมฯ ยืนยันว่าจะร่วมมือประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่าในช่วงวิกฤตแล้ง อย่างไรก็ดี อยากให้มองอย่างเข้าใจด้วยว่า สัดส่วนการได้ประโยชน์จากการใช้น้ำของอุตสาหกรรมมีมากกว่าเกษตรกรรม และการที่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 30,000 ราย มารวมกลุ่มเป็นนิคม ซึ่งมีการบริหารจัดสรรใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะดีกว่าการใช้น้ำของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่แยกเดี่ยวกว่า 6,000-7,000 แห่งทั่วประเทศ" ผอ.นิคมอุตสาหกรรมบางปูแจงเพิ่ม

ด้านบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสนามบินสุวรรณภูมิเปิดเผยถึงกิจกรรมการใช้น้ำประปาขององค์กร ซึ่งใช้ในปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของ กปน.ว่า ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันของท่าอากาศยาน 15,000 ลบ.ม. ประกอบด้วย
1.กลุ่มอุตสาหกรรม แบ่งเป็น ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น (DCAP) 5,000 ลบ.ม. อาหาร (ครัวการบิน) 2,000 ลบ.ม. และขนส่งสินค้า (Cargo) 1,800 ลบ.ม.
2.กลุ่มผู้โดยสาร ใช้น้ำ  3,600 ลบ.ม.
3.กลุ่มอาคารอื่นๆ 2,600 ลบ.ม.

เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ข้อมูลว่า ในส่วนของอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินที่ใช้ปริมาณน้ำ 3,600 ลบ.ม.ต่อวัน เทียบกับปริมาณผู้ใช้น้ำ ได้แก่ 1.ผู้โดยสารเฉลี่ย 130,000 คนต่อวัน 2.ผู้มาส่งผู้โดยสาร 0.5 คนต่อผู้โดยสาร 1 คน หรือ 65,000 คนต่อวัน และ 3.เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ ประมาณ 20,000 คนต่อวัน ดังนั้น 1 คนจะใช้น้ำประมาณ 0.0167 ลบ.ม. หรือ 16.7 ลิตร

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังระบุถึงมาตรการประหยัดน้ำขององค์กรไว้ว่า พยายามเลือกใช้อุปกรณ์สุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำ เช่น ใช้ก๊อกน้ำอัตโนมัติแทนก๊อกน้ำธรรมดาเพราะประหยัดน้ำได้มากกว่า โดยก๊อกน้ำอัตโนมัติจะมีปริมาณการใช้น้ำไม่เกิน 1 ลิตร ต่อการล้างมือ 1 ครั้ง ใช้โถปัสสาวะชายแบบอัตโนมัติซึ่งใช้น้ำเพียง 0.7 ลิตรต่อการชำระล้าง 1 ครั้ง โดยระบบกดชำระล้างแบบปกติจะใช้น้ำ 2-6 ลิตรต่อครั้ง และใช้อุปกรณ์ Flush valve แทนสุขภัณฑ์ที่มีถังพักน้ำ จะป้องกันเรื่องปัญหาน้ำรั่วซึมและการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียมาใช้ใหม่และใช้น้ำผิวดินในการรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด ซึ่งจะสามารถทดแทนการใช้น้ำประปาได้วันละ 4,000 ลบ.ม. รวมทั้งมีแผนตรวจสอบการรั่วและซ่อมบำรุงท่อประปาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดน้ำสูญเสียน้อยที่สุดหากท่อชำรุด มีระบบควบคุมแรงดันน้ำประปาให้เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อลดการสูญเสียน้ำและประหยัด

ขณะที่ นายสุรพล มาลัยรัตนา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัท ลัคกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ใช้น้ำมากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 กล่าวว่า ลัคกี้เท็คซ์เป็นภาคธุรกิจที่ผลิตเสื้อผ้า ผ้า และเส้นด้าย จึงต้องใช้น้ำจำนวนมาก ซึ่งร้อยละ 95 หมดไปภาคการผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่ 2 เป็นโรงงานฟอกย้อมใช้น้ำวันละ 8,000-9,000 ลบ.ม. ส่วนอีกร้อยละ 5 ใช้ในการอุปโภคบริโภคของพนักงาน ส่วนสาเหตุที่ใช้น้ำมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะทางบริษัทกำลังผลิตผ้าชนิดใหม่ ด้วยขั้นตอนที่มากขึ้นต้องใช้น้ำปริมาณมากตามในขั้นตอนการผลิตฟอกย้อม และยังไม่สามารถควบคุมการผลิตให้เสถียร 100 เปอร์เซ็นต์ได้ 

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง