หลังม่านนโยบายทวงคืนผืนป่า คราบน้ำตาของคนเล็กคนน้อย

สังคม
20 ก.ค. 58
09:07
841
Logo Thai PBS
หลังม่านนโยบายทวงคืนผืนป่า คราบน้ำตาของคนเล็กคนน้อย

วันนี้ (20 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรัฐบาลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยเข้าไปตัดฟันต้นยางพาราหลายร้อยไร่ที่ปลูกในพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ ในหลายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่บางส่วนยังไม่มีการตรวจสอบเอกสิทธิให้ชัดเจน หรือไม่มีการผ่อนปรนแต่อย่างใด

เว็บไซต์คนชายข่าว คนชายขอบ http://transbordernews.in.th/ รายงานถึงชีวิตของชาวบ้านที่จ.สกลนคร ในรายงาน “หลังม่านนโยบายทวงคืนผืนป่า คราบน้ำตาของคนเล็กคนน้อย”

แกงหวายรสดีพร้อมอาหารประจำถิ่นอีสาน และผลไม้นานาชนิด ถูกวางจานจัดต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางที่ร่วมเดินทางลงพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดสกลนครที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บททวงคืนผืนป่าของราชการ

“บ้านเราไม่มีอะไรเยอะ ลูกๆ เราก็กินแต่ผัก ผลไม้เดิมๆ เราไม่มีเงินไปซื้อผักปลา ราคาแพง ตอนนี้เข้าไปทำสวน ทำไร่ ไม่ได้แล้ว ยิ่งยากเลยนะ ยางที่กรีดทิ้งไว้ของบางคนก็ปล่อยให้เจอฝน เจอน้ำ แข็งตัวในป่ายางไว้ ไร่มันสำปะหลังบางแปลงก็หญ้าขึ้นรก ชาวบ้านทยอยหางานอื่นทำแล้ว มีบางคนแอบไปทำสวนในเขตป่าสงวน เขตอุทยานอยู่ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รู้จะทำยังไงกันได้” แม่เฒ่ารายในหมู่บ้านพยายามสะท้อนสถานการณ์ความเดือดร้อนที่คนในชุมชนกำลังประสบ

เสร็จมื้อกลางวัน “สวาท อุปะฮาด” ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านไร้สิทธิจังหวัดสกลนคร พร้อมชาวบ้านพาสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจการทำสวนยางและพื้นที่ซึ่งถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่อยู่โดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว ป่าหัวยางคำ ป่าหนองกุงทับม้าและป่าหนองหญ้าไชย ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร อำเภอวังสามหมอจังหวัดอุดรธานี และอำเภอสามชัยจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยพื้นที่ดังกล่าวล้วนเป็นพื้นที่เป็นแนวเขตของรัฐ ที่ชาวบ้านไม่ได้มีเอาสารสิทธิ์ครอบครอง หากแต่ผ่านช่วงเวลาการทำกินมายาวนาน ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านและเขตป่าของรัฐ

สำหรับที่มาที่ไปของการตรวจสอบสิทธิ์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ “สวาท” ระบุว่า เป็นปัญหาซ้ำซากที่ยากจะอธิบาย เพราะรัฐมักประชาสัมพันธ์ว่าพื้นที่ใดที่ถูกทวงคืน ติดป้ายห้ามเข้า และประกาศเขตแล้ว คือ ผลงานการอนุรักษ์และยึดคืนพื้นที่ป่า โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นเอกชนแบบทุนใหญ่ หรือเป็นเพียงที่แปลงสุดท้ายที่ชาวบ้านใช้ทำไร่ยาง ปลูกมันสำปะหลัง และผลไม้อื่นๆ ทั้งมะม่วง มะขาม ลำไย เงาะ และแก้วมังกร แต่อาณาเขตป่ากว้างขวางสุดลูกหูลูกตา

ระหว่างการสำรวจผืนป่าและหมู่บ้านโดยรอบที่พอมองเห็นจากถนนสองเลน ซึ่งแบ่งระหว่างอุทยานและเขตป่าสงวน “พงศ์สมัย สีละวัน” ชาวบ้านตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับคณะสื่อมวลชนว่า

“ถ้าจะพูดกันตรงๆ คือ ที่ดินของชาวบ้านแถบนี้ ไม่มีใครหรอกไม่รุก ถ้ารัฐเขาว่าผิด เราก็ผิด ที่ดินของผมที่กาฬสินธุ์มี 20 ไร่ ปลูกยางหวังจะมีเงินกับเขานั่นแหละ เมื่อก่อนปลูกมะขาม แต่พอปลูกยางได้เจ็ดปี ปีที่แล้วเขาตัดเกลี้ยงเลย จะให้ผมทำไง เขาตัดแล้วก็แล้วไป ผมรู้ว่าเรียกร้องอะไรไม่ได้ หนี้สินผมก็ไม่มีจะใช้แล้ว หาส่งดอกเบี้ยเขาได้ก็หา หาไม่ได้ก็ตายจากโลกไป ผมก็แก่แล้ว จะเอาอะไรไปสู้ ผมก็ไม่กลัวจะเสียอะไรแล้ว แต่ถามว่าทำไมนายทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยาง มองจากถนนก็เห็นชัดว่าอยู่กลางป่าสงวน แต่ไม่โดน รีสอร์ทก็ขึ้นข้างๆ ทางติดอุทยานก็ไม่เห็นโดนไล่ โดนห้าม อยู่ๆ มาบอกว่ามีโฉนด ผมเลยคิดว่าให้อภัย เขาทำหน้าที่เขา เราทำหน้าที่เรา ” ชายชาวไร่ยางกล่าวอย่างหม่นหมอง

หลังสำรวจสวนยางแล้ว “ลำดวน บุญโส” ชาวบ้านอีกรายหนึ่งนำคณะเดินทางไปยังปากหมู่บ้านของตนที่หมู่บ้านสมสวัสดิ์ อำเภอสามหมอ เพื่อดูพื้นที่ชุมชนซึ่งมีบ้านเรือนเพียง 5 หลังคาเรือน ที่ได้รับคำแจ้งเตือนจากอุทยานให้ย้ายออกโดยเร็วที่สุดและคาดว่าจะถูกไล่รื้อภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ (2558 ) ซึ่งลำดวนเองก็ยังไม่ทราบว่าแนวทางต่อไปจะทำอย่างไร

“ครอบครัวเรามีลูก 2 คน หลังสามีเลิกรากันไป เราก็ทำร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายของทั่วไป มีอาหารพื้นบ้าน อย่างอึ่ง กบ เขียด และมีข้าวแกงบ้าง มีอะไรก็ขายปะปนกันไปที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน แต่ต่อมาปีที่แล้ว (2557) มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า สร้างที่อยู่อาศัยทับเขตป่า เขาก็จัดการรื้อบ้านทิ้ง เราเลยต้องสร้างใหม่ไกลออกไปกับสวนยางเพื่อนบ้านอีกประมาณ 5 กิโลเมตร แต่คิดว่าไม่น่าจะเกินปีนี้ก็อาจโดนรื้ออีก พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 4 ครอบครัว ตอนนี้ให้ลูกชายและลูกสาวออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะเราไม่มีรายได้ จะให้ลูกกลับไปเรียนก็ต้องมีงานที่มั่นคงทำก่อน แต่ตอนนี้ จะรับจ้างใครก็ไม่ได้แล้ว เพราะสวนยางรัฐเขาก็ห้ามทำ และปลูกอะไรก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ที่ของเรา” ลำดวนระบายความในใจ

ใช่เพียงแค่ภาระหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนทางการเกษตรเท่านั้นที่ชาวบ้านใน 3 จังหวัดภาคอีสานต้องแบกรับ แต่นโยบายการทวงคืนผืนป่า หมายถึงการตัดวงจรชีวิตที่เคยทำกินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ด้วยแผนจัดการทรัพยากรของรัฐ ที่ส่อแววขัดแย้งกับเกษตรกรมากขึ้นทุกขณะ

ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กและป่าสวนขนาดใหญ่ใน 3 อำเภอรอยต่อเท่านั้น ทว่าชะตากรรมของชาวบ้านที่อำเภอภูพาน ซึ่งอยู่รอบเขตป่าสงวนภูพาน จังหวัดสกลนครก็เผชิญกับสภาวะหนี้สินและตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดไม่ต่างกัน

เมื่อปี 2555 เจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่พิสูจน์สิทธิชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินแบบภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภบท.5 ที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินมาตั้งแต่สมัยพลเอก เปรม ติณละสูลานนท์ พบว่าชาวบ้านหลายรายถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ข้อหาบุกรุกป่า ทั้งๆที่เสียภาษีทุกปี โดยนับตั้งแต่มีการตรวจสอบสิทธิที่ดินทำกินในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากระทั่งแผนทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชาวบ้านตกเป็นจำเลยที่บุกรุกป่ามากถึง 34 คน (จำนวนนี้เฉพาะชาวบ้านที่เข้าร่วมเครือข่ายไทบ้านไร้สิทธิ) บ้างศาลตัดสินจำคุกแล้ว บ้างอยู่ระหว่างรอลงอาญา และบางส่วนรอศาลพิจารณา สืบพยาน

“สมชัย ทองดีนอก” ชาวบ้านจัดระเบียบ อำเภอภูพาน ระบุว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความเข้าใจของชาวบ้าน คือ นโยบายใดๆก็ตามที่เกี่ยวกับป่าไม้อันเชื่อมโยงกับเขตชุมชน หมายถึงต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งการใช้พื้นที่ทำกินและพื้นที่อนุรักษ์ อย่างกรณี ชาวบ้านจัดระเบียบ อำเภอภูพาน ที่ถูกทวงคืนที่ดินในป่ากว่า 800 ไร่ หลายคนหมายถึงหมดสิ้นหนทางทำกินชั่วชีวิต

“เมื่อก่อน เรามีป่าใหญ่มาก เราก็จับจองพื้นที่ทำกินตรงกลาง รอบๆ ทิ้งเป็นป่า ปลูกปอ ปลูกหวาย ปลูกมัน ปลูกพืชที่จำเป็นต่อครอบครัว แต่แล้วรัฐเขาก็มาบอกให้เราหันมาปลูกยาง ต่อมามีนายทุนมากว่านซื้อที่ดิน มาจากไหนไม่รู้ แต่ทำสวนในวงกว้าง อ้างว่ามีโฉนดสวนยาง ชาวบ้านไม่รู้ก็ขาย บางคนไม่ขายก็รับจ้างหาเงิน บ้างกู้เงินมาลงทุนปลูกยางเองบ้าง แล้วชะตากรรมก็ตกอยู่เช่นเดิม คือ โดนเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี” สมชัย อธิบายที่มาของปัญหา

เขาเล่าด้วยว่า ปัญหาที่ตามมาจากความอดอยาก ไร้สิทธิ และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน คือ เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาใช้ช่วงวิกฤต อ้างจะช่วยเหลือชาวบ้านเข้ามาหลอกให้ชาวบ้านร่วมลงขันหาเงินไปสู้คดี รับปากจะไกล่เกลี่ยกับภาครัฐให้ สุดท้ายหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือบางคนก็ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่ตอนนี้หลายคนหาเงินได้ก็เก็บไว้ขึ้นศาล

สมชัยเห็นว่ารัฐบาลควรเปลี่ยนแผนใหม่ หากจะเอาป่าคืนพื้นที่สีเขียวก็ต้องสัญญาว่า หาที่อยู่ที่ทำกินให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ แต่ถ้าหาไม่ได้ต้องเปิดเวทีคุยกันจริงจังซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จเพราะรัฐบาลไม่ได้มุ่งมันแก้ไข และไม่เคยรับฟังว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างไร

“ผมเชื่อว่าในประเทศนี้ไม่มีที่ดินพอให้คนจนอาศัยแล้ว ที่เราอยู่ได้เพราะเราพึ่งเกษตร เราไม่มีเกษตรเป็นที่พึ่งมันแปลว่า เราเหมือนขาดลมหายใจไปแล้ว เพราะเงินรายได้ที่มีใช้สู้คดีไม่กี่เดือนก็หมด ผมอยากให้หันมามองเราอย่างประชาชน ร่วมคิด ร่วมสร้าง ไม่ใช่ศัตรู” สมชัยทิ้งท้าย

ทั้งหมดคือเสียงจากคนเล็กคนน้อยในภาคอีสานที่สะท้อนภาพนโยบายทวงคืนผืนป่า ในมุมบนก้มมองสู่ข้างล่าง เราเห็นภาพกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อ้างถึงตัวเลขความสำเร็จนับแสนไร่ที่ทวงคืนมาได้ แต่ในมุมจากข้างล่างมองขึ้นไปข้างบน เราเห็นผู้คนนับพันนับหมื่นกำลังเดือดร้อนจากนโยบายครั้งนี้ ขณะที่นายทุนและเจ้าของที่ดินรายใหญ่กลับไม่ถูกดำเนินการใดๆ แต่ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำกลับต้องเดือนร้อนอย่างแสนสาหัส

ปัจจุบันสังคมไทยเสียสมดุลในแทบทุกด้าน จนกลายเป็นวิกฤตที่สุด กรณี “คนกับป่า”ก็เช่นกัน มุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้บาดแผลยิ่งบาดลึก ทำอย่างไรเราถึงจะเริ่มจัดสมดุลกันใหม่ได้ 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง