ท่องรถพิพิธภัณฑ์สัญจร..สู่ภาพวาดของผู้พิการทางสายตา

Logo Thai PBS
ท่องรถพิพิธภัณฑ์สัญจร..สู่ภาพวาดของผู้พิการทางสายตา

ถึงจะมองไม่เห็น แต่ผู้พิการทางสายตาใช้การสัมผัสจดจำรูปทรงมาวาดภาพ ยิ่งได้รถพิพิธภัณฑ์สัญจรที่จำลองวัตถุโบราณให้จับได้ ยิ่งเปิดโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หนึ่งในความพยายามของภาครัฐปีนี้เพื่อหนุนผู้พิการให้เข้าถึงศิลปะ

สัมผัสด้วยมือเป็นหลักเพราะตามองไม่เห็น ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาจดจำรูปทรงศิลปะวัตถุเก่าแก่ที่จำลองมา ทั้ง หม้อสามขาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พระพุทธรูปปางลีลา และ ธรรมจักรสมัยทวารวดี เพื่อกลับไปวาดรูปตามโจทย์สุดท้าทาย ไม่ใช่แค่สัมผัส แต่อักษรเบรลล์ยังช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์ของแต่ละชิ้นด้วย นี่คือความพิเศษของ รถพิพิธภัณฑ์สัญจร ที่ใครๆ ก็เข้าชมได้ ล่าสุดมาจอดหน้าหอศิลป์ราชดำเนิน

ไม่น่าเชื่อว่าว่าวาดออกมาไม่ต่างจากตาเห็น เป็นภาพรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกกิเตศวร ฝีมือ กมนนัทธ์ ศรีหะจันทร์ วัย 29 ปี ที่ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการสัมผัสเพราะเป็นพนักพิสูจน์อักษร เก็บรายละเอียดได้ครบเหมือนของจริง ใน “โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ”

คลาสศิลปะในค่ายนักเขียน เริ่มจากจุดเล็กๆ เพียงอยากให้ผู้พิการทางสายตา ได้วาดภาพประกอบงานเขียนของตัวเอง เลยทดลองจนมีหลักการสอน คือ วาดลงกระดาษที่รองด้วยแผ่นโฟมนุ่มๆ เพื่อให้ลายเส้นเกิดร่องลึกจนสัมผัสได้ พร้อมใช้มืออีกข้างคลำนำทางเพื่อให้วาดภาพได้ต่อเนื่อง ราว 3 สัปดาห์ที่ฝึกฝน พบว่าผู้ร่วมกิจกรรมถึง 3 ในกว่า 20 คน วาดรูปได้ดีกว่าคาด จึงมีความพยายามให้หลักสูตรนี้ใช้ได้ผลกับผู้บกพร่องทางการมองเห็นทั่วประเทศ

สิ่งสำคัญไม่แพ้ความเชื่อมั่นในตัวผู้พิการที่เริ่มฝึกวาดรูป คือการได้เรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ที่ทุกวันนี้ยังมีข้อจำกัด อย่างหอศิลป์ราชดำเนินยังไม่มีอักษรเบรลล์อธิบายข้อมูล มีแต่ทางราบและลิฟท์ช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่งเพิ่มราวจับบริเวณทางเข้าเมื่อต้นปี ล่าสุดห้องสมุดศิลปะที่กำลังสร้าง จะจัดโซนหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการด้วย
เรื่องงบเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ยังไม่สร้างสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ชมผู้พิการ บางแห่งมีทางราบหรือลิฟท์แล้วก็จริงแต่ไปได้ไม่ถึงชั้นบนสุด ซึ่งทางออกหนึ่งคือการจัดสรรงบแยกไปเลยว่าใช้เพื่อผู้พิการเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง