"ด้านมืดของเมือง" เล่าเรื่องชีวิตคนที่ทนทุกข์จาก "ถ่านหิน" ผ่านเลนส์ช่างภาพ

Logo Thai PBS
"ด้านมืดของเมือง" เล่าเรื่องชีวิตคนที่ทนทุกข์จาก "ถ่านหิน" ผ่านเลนส์ช่างภาพ

เป็นอีกครั้งที่ภาพถ่ายเป็นมากกว่าความงาม แต่ยังสะท้อนความจริงในนิทรรศการ "ด้านมืดของเมือง" ที่ช่างภาพมือสารคดีฝาแฝด ลงพื้นที่ อ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เก็บภาพชีวิตและความยากลำบากของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานถ่านหิน

"บางคนก็มาในสภาพที่พร้อมสายออกซิเจน มีทั้งเด็ก มีทั้งคนแก่ และคนวัยทำงาน เราอยากให้เห็นว่าระหว่างที่เราใช้ไฟ ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เดือดร้อนจากการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองและการใช้พลังงานจากถ่านหิน" หนึ่งในช่างภาพเจ้าของนิทรรศการภาพถ่ายบอกเล่าถึงความคิดเบื้องหลังในการทำงานชุดนี้

ถ้ามองในแง่ศิลปะ ภาพถ่ายชาวบ้านแม่เมาะที่แววตาหม่นเศร้า ทั้งหญิงชรา เด็กน้อยหรือชายวัยกลางคน บ้างถือขวดยา บ้างมีสายออกซิเจน อาจเป็นภาพถ่ายชิ้นเยี่ยมที่สะท้อนอารมณ์คนในภาพได้อย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ชาวบ้าน ใน อ. แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต้องเผชิญมากว่า 20 ปี เป็นปัญหาสุขภาพที่โดนผลกระทบมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสวยงาม

ส่วนหนึ่งของภาพถ่ายสะเทือนอารมณ์ในนิทรรศการ "ด้านมืดของเมือง" ฝีมือช่างภาพฝาแฝด--เริงฤทธิ์ และ เริงชัย คงเมือง หวังให้ผู้คนที่ใช้ไฟฟ้า ได้ตระหนักถึงอีกมุมของความสะดวกสบาย ที่แม้ศาลจะตัดสินให้ชุมชนชนะคดี หากไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ชาวบ้านต้องแลกมา อย่างภาพถ่ายชายชราที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ และจากไปหลังสองช่างภาพออกจากพื้นที่ได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์

หนึ่งในลูกเล่นของนิทรรศการครั้งนี้ ยังอยู่ที่การให้ผู้ชมลองสวมผ้าปิดจมูก เดินชมภาพถ่ายทั้งหมด 60 ภาพ แม้อาจเป็นเพียงไม่กี่นาทีสั้นๆ ก็หวังให้ผู้ชมพอจะเข้าใจถึงความยากลำบากของคนในพื้นที่แม่เมาะ

เมธาวี มูลมณี ผู้ชมนิทรรศการ บอกว่าการใส่ผ้าปิดจมูกทำให้เขารับรู้ถึงความอึดอัดของชาวแม่เมาะ  "ใส่ผ้าปิดจมูกแล้วเรารู้สึกอึดอัด แล้วชาวแม่เมาะเขาต้องอยู่ตรงนั้นตลอด ถ้าเป็นเราคงทนไม่ไหว นิทรรศการภาพถ่ายนี้ทำให้เราตระหนักว่าไม่ใช่ว่าเรามีเงินแล้วเราจะใช้ไฟไปได้ตลอด เราต้องคิดถึงคนอื่นบ้าง"

ทั้งหมด 60 ภาพถ่ายสะท้อนชีวิตของคนในพื้นที่แม่เมาะ เป็นอีกการบันทึกบทเรียนทางสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยผ่านเลนส์กล้องของสองช่างภาพภาพสารคดี ที่เน้นถ่ายทอดอย่างสวยงามและมีเรื่องราว เช่นการอนุรักษ์ป่าแม่วงก์ ยังเคยตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดัง National Geographic มาแล้ว ความผูกพันที่มีต่อป่าครั้งเคยทำงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ชัยภูมิและห้วยขาแข้ง ทำให้ทั้งคู่ทุ่มเทเวลาเกือบ 20 ปีจับกล้องถ่ายทอดเรื่องราวทางสิ่งแวดล้อม ทั้งรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว อย่าง "ภูเหล็ก ลมหายใจแห่งภูเขาทองคำ" ฉายปัญหาเหมืองทองคำ ใน อ. วังสะพุง จังหวัดเลย โดยเห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเรายังต้องการการแก้ไขหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย และจิตสำนึกของคนในสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง