รุมค้านร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่-ไม่เป็นอิสระ ชี้กระทบเสรีภาพสื่อ-ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ

สังคม
25 ก.ค. 58
05:37
190
Logo Thai PBS
รุมค้านร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่-ไม่เป็นอิสระ  ชี้กระทบเสรีภาพสื่อ-ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ

รุมจวกร่างพ.ร.บ.กสทช.ใหม่มีแต่จะสร้างปัญหาให้กับทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และกระทบเสรีภาพของสื่อ ตั้งแต่กรรมการสรรหาที่ลดลงจาก 11 คน มาเป็น 7 คน ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และเชี่ยวชาญเรื่องสื่อเลย รวมถึงการกำหนดให้กสทช.อยู่ภายใต้กรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะทำให้กสทช.ไม่เป็นอิสระ

วานนี้ (24 ก.ค.2558) เวทีสัมนา “ผ่าร่างแก้ไขพ.ร.บ. ของ กสทช.มาถูกทาง??” ที่จัดโดยหลายภาคส่วนร่วมกัน ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหา และเสนอความเห็นต่อการแก้ไข ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกสทช. ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นของคณะรัฐมนตรี

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าผู้ที่จะแก้กฎหมาย ไม่มีความเข้าใจ จึงแก้ตั้งแต่โครงสร้างองค์ประกอบ และยังให้ภายใต้กรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมาจากรัฐบาล และจะส่งผลต่อการกระทบสิทธิเสรีภาพของสื่อด้วย

นอกจากนี้การปรับลดจำนวน บุคคลผู้เป็นกรรมการกสทช. ที่ปรับลด จาก 11 คน เหลือ 7 คน รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเป็น “กรรมการ กสทช.” นั้น มีข้อจำกัดมากและกระทบต่อบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำหน้าที่

ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในชั้นการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเห็นว่ายังมีข้อทักท้วงจากหลายฝ่ายอยู่ และเชื่อว่ารัฐบาลยังประวิงเวลาการพิจารณาไว้ เพื่อผลักดันร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มได้ก่อน การแก้ไขร่างกฎหมาย กสทช. แต่ทุกเรื่องก็จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด

ด้าน นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มีประเด็นที่ผู้ประกอบการเอง ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลไกใหญ่ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกสทช., ตัวกรรมการ และคุณสมบัติ ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ในการดูแลกิจการผู้ประกอบการ และการดูแลผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะทำให้กสทช. ถูกปรับเปลี่ยนในรูปแบบไม่ใช่องค์กรอิสระ และบุคคลที่คัดเลือกเข้ามา ไม่ใช่บุคคลอยู่ในแวดวงวิชาชีพเลย และไม่มีความชำนาญด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม

ดังนั้นการเสวนาครั้งนี้ เพื่อต้องการระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ร่วมกันคัดค้านและเสนอแนะว่าจะทำอย่างไร เพื่อยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ ต่อรัฐบาลและฝ่ายเกี่ยวข้อง เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจาณาและนำมาบังคับใช้ จะสร้างความไม่มั่นใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ

นางอรุณีประภา หอมเศรษฐี นายกสมาคมสภาวิชากิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อเห็นร่างกฎหมายใหม่แล้วรู้สึกตกใจมาก เพราะจะทำให้ เสรีภาพสื่อหายไปมาก และการกำหนดที่มาของ กรรมการสรรหา 7 คน ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในกิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฏีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจทำให้ได้ ตัวกสทช.ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะเห็นว่าไม่มีตัวแทนของผู้มีประสบการณ์ด้านกิจการโทรทัศน์ หรือ โทรคมนาคม เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมด้วย

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึง ผลกระทบจากการกำกับดูแลสื่อโดยภาครัฐว่า ที่ผ่านมาการกำกับดูแลที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ที่ผ่านมา นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เต็มที่

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กฎหมายใหม่ เปลี่ยนหลักการในกฎหมายเดิมหลายประเด็น เช่น ที่มาของบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการ ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านกิจการโทรทัศน์ และ โทรคมนาคม, การไม่ใช้ประสบการณ์ตรงมากำหนดคุณสมบัติ จะมีปัญหา แต่การกำหนดคุณสมบัติที่ยึดกับตำแหน่ง จะทำให้ กสทช. ขาดความชำนาญ และไม่เป็นมืออาชีพ รวมถึงกระบวนการสรรหาตัวบุคคล ที่จะเป็นกรรมการ กสทช. ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และกรรมการที่มาจากปปช. และสตง. ไม่ควรมาร่วม เพราะ 2 หน่วยนี้ จะเป็นหน่วยตรวจสอบในอนาคต จึงไม่ควรมาอยู่ในตำแหน่งกรรมการสรรหา และมีประเด็นในข้อกฏหมายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่และที่จะเกิดในอนาคต

ในส่วนของมิติการคุ้มครองผู้บริโภค ร่างกฎหมายใหม่ ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของ สปช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เคยเสนอให้แก้ไขแล้วหลายส่วน เช่น คุณสมบัติ ตัวกสทช. ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง โดยไม่ยึดติดตำแหน่ง รวมทั้งการกำหนดให้กสทช.อยู่ภายใต้กรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประเด็นที่ทำให้กสทช.ไม่เป็นอิสระ

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง