ภัยแล้งบีบเกษตรกรจำใจขายนาปลดหนี้ พลิกชีวิตหันไปเช่าที่ดินนายทุนทำแทน

ภูมิภาค
25 ก.ค. 58
15:12
232
Logo Thai PBS
ภัยแล้งบีบเกษตรกรจำใจขายนาปลดหนี้ พลิกชีวิตหันไปเช่าที่ดินนายทุนทำแทน

ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 ทำให้ชาวนาขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลง ส่งผลต่อการชำระหนี้และอาจนำไปสู่การสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ทำกิน โดยเฉพาะในภาคกลางที่พบว่าสถิติการขายที่นาเพื่อใช้หนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่น

ครอบครัวนิลประเสริฐ เหลือที่นาจำนวน 3 ไร่ใน ต.มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ดินผืนสุดท้าย หลังจำใจขายที่นาของตัวเองให้กับนายทุนเมื่อหลายสิบปีก่อน นายสุชิน นิลประเสริฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีนาทั้งหมด 20 ไร่ แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูง เฉลี่ยไร่ละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

แต่เมื่อรายรับไม่พอกับรายจ่ายจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคาร สหกรณ์และนายทุนในพื้นที่ จนเกิดเป็นหนี้สินพอกพูนและเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงตัดสินใจขายที่นาเพื่อปลดหนี้และหันมาเช่าที่ของนายทุนจำนวน 70 ไร่ เพื่อทำนาในราคาไร่ละ 1,500 บาท ต่อ 1 รอบการผลิต

ตำบลมารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 80,000 กว่าไร่ เป็นที่นาเช่าไม่ต่ำกว่า 60,000 ไร่ ที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่

"ปัญหาคือชาวนาไม่มีอาชีพเสริม แต่ต้องกินและใช้ทุกวัน พอไม่มี หนี้ก็พอกเข้ามา พอหนี้พอกเข้ามาก็ต้องขายสมบัติที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นชาวนาจะเหลือนาของตัวเองน้อยมาก จะเป็นนาเช่าส่วนใหญ่" นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย นายก อบต.มารวิชัย กล่าว

ข้อมูลจากกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย พบว่าพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดมีประมาณ 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ของคนอื่น 78 ล้านไร่ ที่เหลือ 71 ล้านไร่เป็นที่ของเกษตรกรเอง ในจำนวนนี้ 29 ล้านไร่ติดจำนอง แต่ละปีมีเกษตรกรเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการจำนองเฉลี่ย 16,250 ไร่ ขณะที่ปัญหาที่ดินหลุดมือชาวนาเกิดจากเหตุหลายปัจจัยเช่น ภาระหนี้สิน, ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้, ราคาผลผลิตตกต่ำและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง

"ชาวนาขายที่มี 2 ปัจจัยหลักคือ ตัวชาวนาเอง การลงทุนการผลิต ราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่มีใครช่วยเรื่องการประกันราคาพืชและประกันภัยแล้ง อีกด้านหนึ่งคือ มีแรงผลักดันจากการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อเก็งกำไร" พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าว

นอกจากปัญหาการสูญเสียที่ดินแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น เพราะรายได้จากการทำนาไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำวัน รวมถึงการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน ทำให้การกระจุกตัวของที่ดินและชาวนาไร้ที่ดินเพิ่มขึ้น

กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ในระบบการผลิต โดยลดต้นทุนค่าปุ๋ยและยา กำหนดราคาข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 8000 - 9000 บาท การช่วยเหลือด้านเงินลงทุนทำนาในอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีกองทุนเมื่อเกิดภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง