ไทยนำเข้าหุ่นยนต์ในโรงงานปีละ 4 พันตัว แก้ลำถูกบีบ“ค่าแรงขั้นต่ำ”มากกว่า 300 บาท

28 ก.ค. 58
12:17
437
Logo Thai PBS
ไทยนำเข้าหุ่นยนต์ในโรงงานปีละ 4 พันตัว แก้ลำถูกบีบ“ค่าแรงขั้นต่ำ”มากกว่า 300 บาท

ยังคงถกเถียงเพื่อปรับเปลี่ยนและหาทางออกอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็น “ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท” ที่เริ่มไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นคำถามให้ขบคิดว่าจำเป็นหรือไม่กับการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท หลังจากได้ปรับใช้ขึ้นเมื่อ 2556 ในสมัยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหากจะปรับจะมีวิธีการปรับขึ้นอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของประเทศไทย

วงเสวนา “ค่าแรงขั้นต่ำ-ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรจะเป็นในอนาคต” ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ มูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท จัดขึ้นเพื่อประเมินผลลับที่เกิดขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ โดยนำข้อมูลทางวิชาการเป็นพื้นฐาน และเพื่อเป็นการเสนอความคิดเห็นถึงแนวทางการเสนอค้าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการ อาจารย์ และกลุ่มตัวแทนแรงงานเข้าร่วมรับฟัง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำมีขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงาน เพราะอำนาจการต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างไม่มีความเสมอภาค ประเทศไทยเป็นประเทศที่สหภาพแรงงานไม่เข็มแข็ง การมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงช่วยให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสังคมไทย มักถูกระบบการเมืองเข้าแทรกแซง และยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถนายจ้าง กำไรธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งการกำหนดปัจจัยเหล่านี้มากเกินไป อาจทำให้เกิดช่องว่างและหาข้อเท็จจริงได้ยาก

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยล่าสุด ปี 2556 พบข้อมูลว่า ครอบครัวทั่วประเทศไทย กว่าร้อยละ 37 อยู่ใต้เส้นความยากจน ขณะที่หัวหน้าครอบครัว 1 คน ต้องหาเลี้ยงสมาชิกอีกหลายคน ดังนั้นเห็นได้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อคนต่อวัน ไม่ได้ช่วยให้คนไทยพ้นความยากจนไปได้ แต่หากครอบครัวใดมีคนทำงาน 2 คน และได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งคู่ พบว่าร้อยละ 90 อยู่บนเส้นความยากจน จึงเป็นอีกประเด็นที่นำไปเป็นหลักคิดในการปรับค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำ ส่วนการจะกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เท่าไรนั้น เวลาในการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้การกำหนดเป็นไปอย่างถูกต้อง และเมื่อกำหนดฐานขั้นต่ำได้แล้ว จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างตามแรงงานขั้นต่ำได้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึงร้อยละ 40

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่พูดถึงกันมากนักในประเทศไทย คือ ค่าจ้างโดยรวมมีแนวโน้มน่าจะสูงขึ้นด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจของประเทศจะขยับสู่ขาขึ้น ในปี 2559 หลังจากถดถอยอยู่ในจุดต่ำสุด และ 2.อุปทานด้านแรงงานลดลง ซึ่งข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2559 แรงงานไทยจะค่อยๆ ทยอยลดลง เป็นผลให้ค่าจ้างสูงขึ้น เพราะขาดแคลนแรงงาน ถ้าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงขึ้นและค่าจ้างโดยรวมสูงขึ้นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ผู้ประกอบการจะหาทางเลือกใหม่ เช่น เอาหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทย เป็นประเทศที่นำเข้าหุ่นยนต์ค่อนข้างสูงประเทศหนึ่งในภูมิภาคและในโลก เฉลี่ยปีละ 4,000 ตัว จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะคิดเฉพาะจุด ณ ตอนนี้ ว่าจะช่วยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีผลระยะยาวที่ต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังกล่าวอีกว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรมีหลักเกณฑ์การปรับที่ชัดเจน แทนตาม “การเมือง” โดยฐานค่าจ้างควรอิงกับค่าใช้จ่ายจริงของคนงาน และควรที่จะปรับตามเงินเฟ้อบวกกับประสิทธิภาพของแรงงาน โดยที่ไม่ต้องเท่ากันทั่วประเทศ

ด้านนางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการเกิดความวิตกกังวล และมีการมีการพูดถึงเรื่องอัตราค้าจ้างขั้นต่ำกันมาก ในส่วนของคณะกรรมการค่าจ้างใช้ 3 องค์ประกอบหลักในการพิจารณา คือ 1.ค่าจ้างใช้เป็นกลไกในการคุมครองแรงงานของประเทศ 2.มีการกำหนดโดยองค์กรไตรภาคีคือมีทั้ง ลูกจ้าง ผู้ประกอบการและภาครัฐ และ 3. การบริหารค้าจ้างคณะกรรมการค่าจ้างมีการกระจายอำนาจการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไปยังแต่ละจังหวัด โดยมีกรอบในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 ของคณะกรรมการค่าจ้างก็คือให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด เพราะมองว่าในแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ สังคมที่แตกต่างกัน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานอุตสาหกรรม กล่าวถึงอัตราค่าจ้างในปัจจุบันว่า ผู้ใช้แรงงาน มองค่าจ้างขั้นต่ำ คือหลักประกันสังคม และเป็นสวัสดิการของรัฐ ขณะที่ในมุมมองของผู้ประกอบการ มองว่าค้าจ้างคือ ต้นทุนที่ต้องจ่าย สองแนวคิดนี้มันไม่ไปด้วยกัน

“ไม่อยากใช้คำว่า ค่าจ้าง อยากใช้คำว่า รายได้ ผู้ใช้แรงงานเขามีรายได้เขาอยู่ดีกินดี อีกอย่างหนึ่งคือ ลูกจ้างอยู่ไม่ได้นายจ้างอยู่ ไม่ได้ 2 สิ่งนี้มันต้องควบคู่กันไป แรงงานก็คือปัจจัยการผลิต ค่าจ้างก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต หากมองว่าขนาดนั้นนี้ค่าจ้าง 300 บาท เพียงพอหรือไม่เราไม่มีกลไกอื่น ในขนาดนี้ในเชิงวิชาการ มันเป็นการผสมผสานวิธีคิดค่าจ้างขั้นต่ำในทุกมิติ มิติเศษฐศาสตร์ มิติความอยู่รอดของแรงงาน มิติของจีดีพี ควรมีมิติเรื่องผลิตภาพแรงงานเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย” นายสุชาติกล่าว

รองประธานอุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า ในส่วนของธุรกิจยานยนต์มีการจ่ายแรงงานขั้นต่ำเกินมานานแล้ว ไม่ใช่นายจ้างใจดี แต่ภาระสูงมาก มีระบบจัดการที่ดี แต่ทำไม 320 มาตั้งหลายปีไม่ปรับขึ้นสักที ขึ้นอยู่กับทางโรงงานด้วยว่าจะจัดการอย่างไร ต้องถกกันก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องปลอดภัยของสังคมหรือเปล่า ถ้าใช่ต้องคิดอีกอย่างหนึ่ง และรัฐบาลต้องปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ใช่รัฐบาลก็ต้องคิดอีกอย่างหนึ่ง มีนโยบายอีกอย่างหนึ่ง และถ้าหากเป็นหลักวิทยาศาสตร์ตัวไหนเป็นที่ยอมรับ ในเมื่อยังมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้ทำงานกับผู้ว่าจ้าง ว่าควรคิดค่าจ้างขั้นต่ำจากอะไร และหากยังมีความขัดแย้ง ก็ต้องมีตัวกลางเป็นตัวชี้ ประเทศไทยพร้อมหรือเปล่าที่จะดูเรื่องของความเป็นมนุษย์ โรงงานที่มีโอทีคนงานเต็ม แต่โรงงานที่ไม่มีโอทีกลับหาคนงานไม่ได้ ถ้าทำงาน 8 ชั่วโมง ได้เงิน 450 บาท ยอมรับได้ไหม ถ้ายอมได้ก็เห็นด้วย ทุกคนได้ประโยชน์ เรายังไม่พร้อมกับแรงงานขั้นต่ำ กลไกที่เรามีทุกวันนี้มันเหมาะสมกับประเทศไทย

ด้าน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรการทางสังคม เป็นหลักประกันทางสังคมขั้นต่ำ ถามว่าควรจะเอาประสิทธิภาพการผลิตเป็นหลักหรือไม่คงไม่ต้อง เอาความสามารถในการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง มันจะต้องเอาเรื่องของค่าความเป็นคนเป็นตัวตั้งแล้วกลับไปถามว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ดีควรที่จะเป็นไง

ศาสตราภิชานแลกล่าวต่อว่า ค่าจ้างขั้นต่ำในบริบทของสังคมไทย ลูกจ้างในบริบทของคนไทยไม่ได้เป็นแค่ลูกจ้าง ไม่ได้เป็นสินค้าตัวหนึ่ง แต่ลูกจ้างในสังคมไทยเป็นสมาชิกในสังคมที่จะเกี่ยวข้องโดยตลอด เมื่อคุณได้งานทำคุณก็ถูกคาดหวังว่า งานแต่งงาน งานศพ ต้องมีเงินช่วย ต้องมีเวลาไปช่วย มันก็ทำให้รายจ่ายของคนในบริบทของสังคมไทยมันเกินกว่ารายรับที่จะใช้พอประทั่งชีวิตหรือต่อลมหายใจ มันถึงจะอยู่ในบริบทของสังคมไทยได้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ดีที่สุดคือ ควรจะให้ลูกจ้างนั้นมีเวลาอยู่กับครอบครัว ลูกจ้างไม่ติดหนี้เพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิต ที่สำคัญก็คือจะต้องมองมิติทางสังคมเป็นหลักไม่ใช้มองมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีค้าจ้างขั้นต่ำ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่โต แต่ที่แย่คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเลย จะทำยังไงไม่ให้ต่อรองกัน ประเด็นที่เป็นการต่อรองเพราะใช้ตัวแทนผลประโยชน์เข้าไป ถ้าจะไม่ให้เป็นการต่อรอง ต้องเอาคนนอกตัวแทนผลประโยชน์เข้าไป เป็นคนชี้นำ มีการเสนอควรมีแรงงานขั้นต่ำรายอุตสาหกรรมแต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เรื่องของการต่อรองไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือไม่คงหลีกเลี่ยงได้ยาก”

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกลุ่มแรงงานร่วมแสดงความคิดเห็นสะท้อนมุมมองคนทำงาน “อยากสะท้อนคำนิยายของค่าจ้าง ตั้งแต่มีการประกาศใช้เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2515 นิยามเดิมคือค่าจ้างต้องพอต่อการเลี้ยงชีพ 1 คน และครอบครัวอีก 2 คน ก็ไม่เข้าใจว่าพอกฎหมายใหม่มา ไปแก้ให้มันเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพคนเดียว ทำให้ไปริดรอนกระบวนการคิดแรงงานขั้นต่ำ เป็นเรื่องที่รู้สึกขัดแย้งกับกรรมกร” การปรับค่าจ้าง 300 มันเหมาะสมแล้วกับการโดนเอาเปรียบมาก แต่ปัญหาอาจจะมีการเมืองเข้ามายุ่งว่ามันก้าวกระโดดเกินไป แต่หากไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องเลย ใครจะฟื้นฟูสิ่งที่โดนเอาเปรียบไป ระบบไตรภาคีของแต่ละจังหวัดมันใช้ไม่ได้ ให้เหลือไตรภาคีระดับประเทศพอมาคุยกัน การขึ้นค่าจ้างเอาเงินมาคิดมากก็ไม่ได้ เพราะคนคือมนุษย์ต้องกินต้องใช้ มีครอบครัว ต้องมองตรงนั้นด้วย ไม่ใช่มองมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตตัวหนึ่ง จะคำนวนยังไงด้านคุณค่าความเป็นมนุษย์ มองว่าการเอาเส้นคนจนมาวัดค่าแรงดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ตัวแทนกลุ่มแรงงาน กล่าว

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “ประสิทธิภาพของคนทำงาน ซึ่งคนทำงานมีอายุ 30 ปีมีมาค่าจ้างที่ได้ทุกวันนี้เกินค่าจ้างขั้นต่ำไปประมาณ 20 บาท แบบนี้ต้องเรียกประสิทธิภาพมันดีหรือไม่ดี ถ้าประสิทธิภาพไม่ได้น่าจะโดนปลดไปแล้วหรือเปล่าอีกอันคือที่บอกว่าไม่ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ที่เรารู้ข้าราชการ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจเท่ากันทั้งประเทศ แถมถ้าเติมน้ำมันที่เชียงใหม่มันแพงกว่ากรุงเทพ ตรรกะตรงนี้คืออะไร”

ยไมพร คงเรือง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง