ทำนาระบบสปริงเกอร์ ลดใช้น้ำร้อยละ 70

สังคม
3 ส.ค. 58
01:59
1,094
Logo Thai PBS
ทำนาระบบสปริงเกอร์ ลดใช้น้ำร้อยละ 70

ปัญหาขาดแคลนน้ำภาคการเกษตร ทำให้เกษตรกรหลายคนต้องปรับระบบทำการเกษตรเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ โดยชาวนาในจังหวัดสิงห์บุรี หันมาใช้สปริงเกอร์ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้มากกว่าร้อยละ 70 ขณะเดียวกันได้ลดพื้นที่ปลูกข้าวมาทำเกษตรผสมผสาน ช่วยให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

พื้นที่การเกษตรกว่า 5 ไร่ ต.คอทราย อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ถูกแบ่งเพื่อทำสวนเกษตรผสมผสาน ทั้งแปลงผัก ไม้ผลยืนต้น นาข้าว และพื้นที่กักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม จึงไม่ขาดแคลนน้ำเหมือนพื้นที่ใกล้เคียง

สมศักดิ์ ปลื้มบุญ เจ้าของสวนเกษตรผสมผสาน จ.สิงห์บุรี บอกว่าแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมสนานนี้เกิดจากแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือมีกินมีใช้ในครอบครัว และแบ่งปันส่วนที่เหลือ หรือขายเพื่อสร้างรายได้ ประกอบกับต้องการทดลองแนวคิดทำเกษตรในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องยึดติดเพียงแต่การทำนาปีละ 2 ครั้ง
 
"การปลูกผัก หรือปลูกอะไรอย่างเดียว มันก็จะเสี่ยง ทั้งเรื่องของตลาด ผลผลิต ก็เลยมีแนวคิดว่าเราจะต้องทำยังไงให้พื้นที่ของเรามีอะไรที่มันมีหลากหลายใน 1 อาชีพ อาชีพของเรา เกษตรนี่แหละครับ"

ทั้งนี้ รายได้หลักของครอบครัวมาจากการปลูกผักชนิดต่างๆ จำหน่าย เช่นผักสวนครัวทั่วไป และผักสายพันธุ์ต่างประเทศที่ต้องมีการสร้างโรงเรือนในการปลูก โดยเน้นปลอดสารพิษเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้า อีกทั้งจะปลูกสลับหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลและปริมาณน้ำที่มีอยู่ แต่ละวันสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 - 500 บาท มากว่า 5 ปี จนชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมาขอคำแนะนำและปฏิบัติตามจนกลายเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

นอกจากแนวคิดการทำเกษตรผสมผสานแล้ว สมศักดิ์ยังได้ทดลองการทำนาด้วยระบบสปริงเกอร์น้ำ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่เห็นชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

"ผมทดลองใช้ระบบสปริงเกอร์ก็ต้องการสื่อให้เห็นว่าในสภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือขาดน้ำในทุกวันนี้ ทุกพื้นที่ที่เป็นกันอยู่น่าจะทำได้ เพราะสปริงเกอร์ใช้น้ำน้อย น่าจะมีผลตอบรับที่ดีในการที่เราทดลองทำตัวนี้ดูครับ"

การทำนาระบบสปริงเกอร์นี้สามารถควบคุมปริมาณการจ่ายน้ำ ลดการใช้น้ำได้มากกว่าร้อยละ 70 จากตลอดฤดูกาลปลูก ซึ่งนาข้าวขนาด 1 ไร่ ต้องใช้น้ำประมาณ 600 - 1,200 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อใช้ระบบสปริงเกอร์ สามารถลดใช้น้ำเหลือเพียงไม่กี่ร้อยลูกบาศก์เมตร

ส่วนการต้นทุนนอกจากการซื้อพันธุ์ข้าวแล้ว ก็จะอยู่ที่การซื้ออุปกรณ์สปริงเกอร์ ท่อน้ำ และปั้มน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และหากแปลงนาทดลองประสบผลสำเร็จ ก็สามารถพัฒนาไปสู่นาข้าวที่มีพื้นที่กว้างขึ้น และเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้การทำนาที่ลดต้นทุนการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง