พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ลงดาบหนัก แชร์โซเชียลไม่คิดปรับสูงสุด 4 แสน จำคุกสูงสุด 2 ปี

สังคม
4 ส.ค. 58
04:00
5,760
Logo Thai PBS
 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ลงดาบหนัก แชร์โซเชียลไม่คิดปรับสูงสุด 4 แสน จำคุกสูงสุด 2 ปี

เผยสาระสำคัญ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558 พบนำข้อมูลผู้อื่นมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์แต่ไม่ให้เครดิต หรือนำไปใช้เพื่อการค้าเข้าข่ายมีความผิด โดยกำหนดอัตราโทษสูงสุด 4 แสนบาท จำคุกสูงสุด 2 ปี ไทยพีบีเอสออนไลน์สรุปสาระสำคัญ 8 ข้อ อะไรบ้างที่เข้าข่ายทำผิดกฎหมายนี้


วันนี้ (4 ส.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 เป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ ได้กำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน ทั้งการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์ ยกเว้นการทำซ้ำชั่วคราว การขายงานลิขสิทธิ์มือสอง การเพิ่มบัญญัติค่าเสียหาย โดยศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของมูลค่าความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อออกคำสั่งให้ผู้บริการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนบทลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หากเป็นการละเมิดเพื่อการค้าปรับ 100,000-800,000 บาท ส่วนโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีปรับ 10,000-100,000 บาท หากเป็นการละเมิดเพื่อการค้า ปรับ 50,000-400,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 (การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

(1) คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์และคุ้มครองสิทธิในข้อมูล ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ใช้บริหารจัดการสิทธิของตนไม่ให้คนอื่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชอบ เช่น การลบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง ฯลฯ โดยหากบุคคลใด ลบ หรือเปลี่ยนแปลง ข้อมูลดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้น อาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวกหรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

(2) คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำมาใช้ปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเพื่อป้องกันการทำซ้ำหรือการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น รหัสผ่าน (password) ที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ในการควบคุม การเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยหากบุคคลใดทำลายมาตรการทางเทคโนโลยีดังกล่าว และรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ยินยอมถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

(3) กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำซ้ำชั่วคราว (Exception for Temporary Reproduction) เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า การทำซ้ำชั่วคราวโดยความจำเป็นของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียกดูงานอันมีลิขสิทธิ์ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีการทำซ้ำงานเพลงหรือภาพยนตร์ดังกล่าวไว้ในหน่วยความจำ (RAM) ทุกครั้ง ด้วยความจำเป็น ทางเทคนิคดังกล่าวทำให้ทุกครั้งที่มีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานจะต้องทำซ้ำงานด้วยเสมอ การทำซ้ำลักษณะนี้เป็นการทำซ้ำชั่วคราว ที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(4) เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Liability Limitation of ISP) เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น เจ้าของเว็บไซต์ Youtube ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาข้อมูลหรือไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องแสดงหลักฐานต่าง ๆ ต่อศาลอย่างเพียงพอ และเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เอาไฟล์ละเมิดออกจากเว็บไซต์แล้ว และเจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการตามคำสั่งศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว

(5) เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนำหลักการระงับไปซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Exhaustion of Rights) มากำหนดให้ชัดเจนว่าการขายงานอันมีลิขสิทธิ์มือสองสามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การขายภาพเขียน หนังสือ ซีดีเพลง ซีดีภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี หากเป็นการขายซีดีภาพยนตร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วย มิฉะนั้น แม้ไม่ผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ แต่อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้

(6) เพิ่มเติมเรื่องสิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง (Moral Right) เพื่อเพิ่มสิทธิให้นักแสดงมีสิทธิทางศีลธรรมเท่าเทียมกับสิทธิทางศีลธรรมของผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนักแสดงมีสิทธิระบุชื่อตนในการแสดงที่ตนได้แสดง และห้ามไม่ให้บุคคลใดกระทำต่อการแสดงของตนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ

(7) เพิ่มบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive damages) โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่ามีการกระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึงโดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย

(8) กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด และสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง โดยให้ผู้กระทำละเมิดเสียค่าใช้จ่ายในการทำลายสิ่งนั้น

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง