เครือข่ายองค์กรสุขภาพ-องค์กรสื่อ ประสานเสียงค้านยกเลิกจัดเก็บภาษีบาป

การเมือง
5 ส.ค. 58
15:30
177
Logo Thai PBS
เครือข่ายองค์กรสุขภาพ-องค์กรสื่อ ประสานเสียงค้านยกเลิกจัดเก็บภาษีบาป

เครือข่ายองค์กรสุขภาพและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกโรงค้านข้อเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 204 วรรค 2 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเพื่อจ่ายตรง (earmarked tax) ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ ได้แก่ กองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

วันนี้ (5 ส.ค.2558) เครือข่ายองค์กรภาคีด้านสุขภาพ 579 องค์กร พร้อมผู้แทนภาคีเครือข่าย ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชนเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านข้อบัญญัติมาตรา 190 และบทเฉพาะกาลยกเลิกกฎหมายการจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) โดยชี้ว่าภาษีในส่วนนี้ไม่ได้กระทบต่อการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ และโดยหลักปฏิบัติก็ถือเป็นสากลในการจัดเก็บและจัดสรรให้องค์กรสาธารณะประโยชน์

"ถ้ามีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีตัวนี้จะกระทบต่อองค์กรสาธารณะประโยชน์ เช่น สสส. ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่อาศัยประโยชน์จากการเก็บภาษีแบบ earmarked tax ทำให้เกิดการทำงานที่คล่องตัว ไม่ยึดติดกับระบบงบประมาณในอดีตที่ไม่คล่องตัว นอกจากนี้ภาษี earmarked tax เป็นภาษีที่เก็บเพิ่มจากภาษีที่รัฐจัดเก็บอยู่แล้ว ไม่ได้ไปขอแบ่งเงินภาษีจากที่รัฐเก็บมา เราจึงเห็นว่าควรจะยังคงมีการจัดเก็บภาษี earmarked tax ต่อไป" นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช.และผู้แทนของเครือข่ายองค์กรภาคีด้านสุขภาพกล่าว

นายมานิจ สุขสมจิตร  รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้รับหนังสือจากเครือข่ายสุขภาพกล่าวว่า ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในหลายประเด็น และหลายคนมีความห่วงใยในการใช้งบประมาณ อยากให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ กมธ.จะพิจารณาทบทวนประเด็นนี้ในวันที่ 10-11 ส.ค.

ส่วนผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือวิป สปช. ได้ข้อสรุปที่จะเสนอที่ประชุม สปช.พิจารณากำหนดวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่วันที่ 7 ก.ย.2558 และกำหนดให้วันที่ 17-21 ส.ค.มีการประชุมเพื่อตั้งคำถามประกอบการทำประชามติ

ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช.กล่าวถึงการรวบรวมรายชื่อเพื่อลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วยการแลกกับเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่าเป็นเรื่องจริงและขณะนี้มีสมาชิกลงชื่อแล้วนับร้อยคน จึงเรียกร้องให้พิจารณาด้วยเหตุผล โดยรอดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 22 ส.ค.นี้

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นดุลยพินิจของสมาชิก สปช. และไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทหรือหน้าที่ของรัฐบาล จึงไม่ควรนำมาโยงกับประเด็นว่าต้องการอยู่ต่อเพื่อการปฏิรูปพร้อมยืนยันจะเดินหน้าตามโรดแมปโดยไม่ผูกขาดหรือยึดติดกับตำแหน่ง ด้วยการบีบบังคับ สปช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

องค์กรสื่อฯ จับตาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ตัดประมาณ "ไทยพีบีเอส-สสส."

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสภาวิชาชีพสื่อมวลชนประชุมหารือกรณีที่มีข้อเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 204 วรรค 2 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเพื่อจ่ายตรง (earmarked tax) ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ ได้แก่ กองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยองค์กรสื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายวันชัย วงศ์มีชัย  นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวภายหลังการประชุมวันนี้ (5 ส.ค.2558) ว่าที่ประชุมประเมินว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทบทวนและถอนเรื่องนี้ออกไป ซึ่งสมาคมนักข่าวฯ จะติดตามสถานการณ์ต่อไปว่ามีการถอนข้อเสนอนี้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น สมาคมนักข่าวฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เพราะเห็นว่าทั้งไทยพีบีเอสและสสส. ต่างทำหน้าที่ได้ดีและมีอิสระตามรูปแบบที่เป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะไทยพีบีเอสที่เป็นสื่อสาธารณะและนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเกิดสื่อสาธารณะในประเทศไทย ส่วนประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาว่าไทยพีบีเอสเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบยากนั้นก็ต้องไปปรับปรุงที่ระบบการตรวจสอบ  

นายวันชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า หากไม่ได้เก็บภาษีเพื่่อจ่ายตรงหรือ earmarked tax ให้ สสส.และไทยพีบีเอส รัฐบาลก็ไม่ได้มีรายได้อื่นที่จะไปสนับสนุน 2 องค์กรนี้ หากจะให้ สสส.และไทยพีบีเอสไปของบประมาณประจำปีก็จะเป็นภาระของรัฐบาล

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ระบุว่า การที่รัฐบาลต้องการแทรกแซงสื่อด้วยวิธีการกดดันทางการเงินนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่าถ้าไม่นำมาภาษีบาป มาจ่ายให้ไทยพีบีเอสและสสส.แล้ว จะมีวิธีนำงบจากส่วนใดมาให้

ถ้ากดดันสื่อสาธารณะด้วยวิธีการแบบนี้และยิ่งตอบไม่ได้ว่าจะนำงบใดมาสนับสนุน เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าถอยหลังลงคลอง นายบรรยงค์กล่าวและให้ความเห็นว่า ในส่วนของไทยพีบีเอสเองก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ตอบโจทย์สังคมได้หรือไม่

รองผู้ว่าการ กกท.หวั่นการยกเลิกภาษีอุดหนุนจะกระทบกองทุนกีฬา

นายมนตรี ไชยพันธุ์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศ (กกท.) มองว่าที่มาของงบประมาณกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไม่ใช่สาระสำคัญ แต่หากให้มีการยกเลิกกฎหมายการจัดเก็บจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะโดยมีการปรับลดวงเงินจากเดิมที่เคยได้ 3-4 พันล้านบาท จะสร้างผลกระทบต่อกองทุนและวัตถุประสงค์ของกองทุนแน่นอน

นายมนตรีมองว่า การจัดสรรเงินเข้ากองทุนร้อยละ 2 จากภาษีสุราและยาสูบถือว่ามีความเหมาะสมอยู่แล้ว

"อย่างที่ทราบกันว่าภาษีตัวนี้เป็นการเก็บเงินเพิ่ม ถ้าเราไม่เก็บเงินจากภาษีก็เท่ากับว่าเราเสียเม็ดเงินตัวนี้ไป เมื่อไม่มีเงินตรงนี้แล้วไปเอางบประมาณประจำปีมาเข้ากองทุนก็เท่ากับว่ารัฐบาลต้องเสียเงินอีกส่วนหนึ่งที่ต้องหางบประมาณมาให้กองทุนพัฒนากีฬา" นายมนตรีกล่าว

พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดให้มีการเก็บเงินจากภาษีเหล้าและยาสูบเข้ากองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติร้อยละ 2 ในการใช้จ่ายกิจกรรม 3 ส่วนของวงการกีฬา ประกอบด้วยการพัฒนาวงการกีฬาและบุคลากร ช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆอาทิค่ารักษาพยาบาลของนักกีฬา และเป็นกองทุนการศึกษา รวมถึงเป็นเงินรางวัลของนักกีฬา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง