สปช.เตรียมอภิปรายประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
19 เม.ย. 58
14:55
99
Logo Thai PBS
สปช.เตรียมอภิปรายประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญ

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก รวม 7 วัน จะเริ่มต้นขึ้นในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.)ซึ่งประธานคณะกรรมาการปฎิรูปการเมือง สปช. ย้ำถึงข้อกังวลเรื่องการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ซึ่งจะอภิปรายอย่างเต็มที่ ภายใต้เวลาที่ได้รับการจัดสรรเพียง 30 นาที พร้อมปฏิเสธให้ความเห็นถึงการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก รวม 7 วัน จะเริ่มต้นขึ้น ในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) โดยสมาชิก สปช.ต่างเตรียมพร้อมอภิปรายเสนอแนะในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องระบบการเมือง ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ กล่าวย้ำถึงข้อกังวลเรื่องการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อกรณีการลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยืนยันว่าอภิปรายอย่างเต็มที่ ภายใต้เวลาที่ได้รับการจัดสรรเพียง 30 นาที

แม้จะได้รับการจัดสรรเวลาการอภิปรายพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เพียงแค่ 30 นาที แต่ ศ.สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยืนยันที่จะอภิปรายแจกแจงข้อเสนอแนะให้มากที่สุด ทั้งที่เชื่อว่าไม่สามารถอภิปรายข้อสังเกตได้อย่างครอบคลุมทั้งหมดก็ตาม

พร้อมย้ำว่า กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ยังคงกังวลต่อข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสม ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว จะได้รัฐบาลผสม และอาจเป็นเหตุให้การเมืองในอนาคตสะดุดได้ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีจะลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ หากยังคงหลักการเลือกตั้งไว้เช่นเดิม

การประชุม สปช. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกนี้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดวันประชุมไว้ 7 วัน โดยในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) จะเป็นวันแรกของการอภิปรายเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ซึ่งประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ถูกคาดการณ์ว่า ประธานแต่ละคณะกรรมาธิการ หรือสมาชิก สปช. จะหยิบยกมาอภิปรายทักท้วงหรือชี้ข้อบกพร่องมากที่สุดนั้น จนถึงขณะนี้น่าจะยังเป็นระบบการเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะปรับแก้ให้การเลือกคนนอกเข้ารับตำแหน่งมีสัดส่วนคะแนนการลงมติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่การไม่ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถคลายความกังวลได้

เช่นเดียวกับเรื่องที่มาของ ส.ว. แม้จะปรับแก้ให้ยึดโยงกับระบบเลือกตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว แต่การมีคณะกรรมการสรรหาในแต่ละจังหวัด เพื่อคัดกรองผู้สมัครให้เหลือจังหวัดละ 10 คน ก่อนให้ประชาชนกากบาทเลือก ก็ยังไม่พ้นข้อครหาที่กล่าวขานว่าเป็นการลากตั้ง เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชน ก่อนการใช้สิทธิ์เลือกโดยตรง

รวมถึงเรื่องที่มา ส.ส. ด้วยระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ก็ยังไม่ตอบโจทย์สมาชิก สปช.บางคนบางกลุ่มได้ว่า สามารถป้องกันการทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้อย่างไร ในทางตรงกันข้ามการได้มาซึ่งรัฐบาล ก็ต้องผ่านการจัดตั้งแบบผสม ที่ถูกจับตามองว่า อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการต่อรองทางการเมือง อันนำมาซึ่งเงื่อนไขที่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์แบบแบ่งเค้ก

นอกจากนั้นแล้ว เรื่ององค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ 2 องค์กรใหม่ อย่างคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง กับผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน ก็ยังคงมีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ ซึ่งซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่นเดียว 11 องค์กรใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งแม้จะอ้างอิงเหตุผลว่า เป็นการเพิ่มสิทธิพลเมืองในการตรวจสอบภาครัฐและฝ่ายการเมือง แต่ก็มีข้อทักท้วงว่ามากเกินควร

และทั้งที่ยืนยันมาโดยตลอดว่า การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เป็นประเด็นที่ต้องบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการดำเนินการต่อไปให้เกิดรูปธรรม เพราะไม่สามารถจัดการให้แล้วเสร็จได้ในระยะสั้น แต่การปฏิรูปก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเจตนาการสืบทอดอำนาจ ขณะที่การสร้างความปรองดอง ก็เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดหวั่นถึงผลที่ตามมาจะกลายเป็นกรณีนิรโทษกรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง