กมธ.ยกร่างฯประชุมหาข้อยุติประเด็นคงค้างร่างรธน.

การเมือง
10 ส.ค. 58
04:51
125
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯประชุมหาข้อยุติประเด็นคงค้างร่างรธน.

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมทบทวนและหาข้อยุติใน 3 ประเด็นหลักที่ยังค้างการพิจารณาในวันที่ 10-11 ส.ค.2558 ทั้งประเด็นที่มา ส.ว. ประเด็นการจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (เอียมาร์ค แท็กซ์) และโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นประเด็นแรกที่จะหารือกันในวันนี้ (10 ส.ค.2558) เบื้องต้น กรรมาธิการได้วางแนวทางการพิจารณาทบทวนไว้ 3 แนวทาง คือจะคงหลักการเดิมให้มี ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 123 คน หรือไม่ โดยมีกระแสข่าวถึงความพยายามกดดันให้ปรับแก้ที่มา ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด แนวทางที่ 2 ประเภทของ ส.ว.สรรหาทั้ง 4 กลุ่มที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายเกินไปหรือไม่ และแนวทางที่ 3 คือรูปแบบที่มาของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 4 กลุ่มมีความเหมาะสมหรือไม่ 
 
โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เป็นประเด็นถัดมาที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องหาข้อสรุป ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มว่าการแก้ไขจะเป็นไปตามคำขอแก้ของคณะรัฐมนตรีที่เสนอให้เหลือเพียงคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศและการปรองดองแห่งชาติ จากเดิมที่แยกออกเป็น 3 ส่วน คือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ 
 
และประเด็นสุดท้าย มาตรา 190 ว่าด้วยการยกเลิกการจัดเก็บและการจัดสรรภาษีตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ตลอดจนบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย (กองทุนกีฬา) บังคับใช้กฎหมายได้ต่อไปไม่เกิน 4 ปี อันเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวคัดค้านจากองค์กรต่างๆ เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อการทำงานอย่างอิสระของทั้ง 3 องค์กร ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์ คือธุรกิจสุราและยาสูบที่จะไม่ต้องถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากที่จ่ายให้รัฐแล้ว
 
ล่าสุด กรรมาธิการมีแนวทางการปรับลด คือทบทวนบทเฉพาะกาลจากเดิมที่มีระยะเวลา 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้กับทั้ง 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และการใช้งบประมาณไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเช่นเดิม และทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้ามออกกฏหมายตั้งหน่วยงานเก็บภาษี และจัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง 
 
เพราะก่อนหน้านี้ เข้าใจว่า เอียมาร์ค แท็กซ์ เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งคลัง แต่ในความเป็นจริงเป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้นๆ เก็บเพิ่มจากฐานภาษีที่ส่งเข้าคลัง หรือเสียเพิ่มให้กับองค์กร จากที่เสียภาษีเข้าคลังแล้ว ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยกรรมาธิการวางกรอบการพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ก่อนเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขมาชี้แจงและจะส่งมอบให้ สปช.ในวันที่ 22 ส.ค.นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง