ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ยกฟ้องโปรแกรมเมอร์วัย 43 โพสต์เฟซบุ๊ก

สังคม
13 ส.ค. 58
07:36
4,219
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ยกฟ้องโปรแกรมเมอร์วัย 43 โพสต์เฟซบุ๊ก

ศาลอ่านคำพิพาษาฎีกา ยกฟ้องโปรแกรมเมอร์วัย 43 คดีมาตรา 112 และความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

วันนี้ (13 ส.ค.2558) เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่นายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) จากกรณีถูกกล่าวหาเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและโพสต์ 5 ข้อความเข้าข่ายความผิด ซึ่งจำเลยถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2554 และมีการไต่สวนพิจารณาคดีเรื่อยมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอ่านคำพิพากษาฎีกาในวันนี้ ผู้พิพากษาอ่านสรุปข้อความสั้นๆ ว่าพิพากษายืน โดยไม่ขออ่านรายละเอียดของคดี โดยระบุว่าเนื่องจากมีบุคคลอื่นและผู้สื่อข่าวอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวประชาไท รายงานว่า วันที่ 26 มี.ค.2557 ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่นายสุรภักดิ์ตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยเรื่องของกลางจำเลยนั้นไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ย่อมไม่อาจริบของกลางได้ สั่งให้คืนคอมพิวเตอร์ของกลางแก่จำเลย

โดยสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุว่า อุทธรณ์ของโจทก์อ้างว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำเลยมีความสามารถสูงในการใช้คอมพิวเตอร์ การได้มาซึ่งพยานหลักฐานรวมถึงประจักษ์พยานเป็นการยาก จำเป็นต้องใช้ความช่วยเหลือหรือการแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ไม่รู้จักหรือมีมูลเหตุจูงใจกลั่นแกล้งจำเลย พยานหลักฐานที่นำสืบนั้นเกิดขึ้นจริงจากการใช้คอมพิวเตอร์ของจำเลย การที่จำเลยอ้างว่ามีคนเข้าใช้งานอีเมล์ที่ถูกฟ้องขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ก็ไม่อาจรับฟังได้เพราะจำเลยสามารถบอกรหัสให้ผู้อื่นเข้าใช้อีเมล์ได้ ส่วนการไม่พบการเข้าใช้งานเพจที่ถูกฟ้องในคอมฟิวเตอร์ของจำเลยตามวันเวลาตามฟ้องก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะผู้กระทำผิดมักไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของตนเองเพราะต้องการปิดบังซ่อนเร้น การที่จำเลยอ้างว่ามีการเปิดคอมพิวเตอร์ของกลางขณะที่คอมพิวเตอร์ถูกยึดแล้วนั้น จำเลยไม่ได้ซักค้านพยานของโจทก์ให้ประจักษ์ชัด วิธีการปลอมแปลงไฟล์ของจำเลยที่สาธิตนั้นก็ป็นคนละเรื่องกับไฟล์ที่ตรวจพบ

ศาลเห็นว่า การอ้างของโจทก์ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิด และภาระการพิสูจน์เป็นของโจทก์ที่ต้องกระทำให้รัดกุม ไม่ใช่ของจำเลย สิ่งที่โจทก์อ้างนั้นนอกจากจะไม่ปรากฏจากการที่โจทก์ถามค้านพยานจำเลย รวมตลอดถึงการสืบพยานตามปกติหรือการขอสืบพยานเพิ่มเติมในภายหลังแล้ว ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าเหตุผลต่างๆ ที่โจทก์ยกมาล้วนแต่มีข้อโต้แย้งหักล้างได้ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะประเด็นการได้ข้อมูลจากพลเมืองดีซึ่งโจทก์ไม่ได้นำตัวบุคคลดังกล่าวมาเบิกความ มีผลไม่ต่างจากการกล่าวอ้างว่าพลเมืองดีคนดังกล่าวเป็นสายลับ การใช้สายลับเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งอ้างอิงการกระทำผิดที่เป็นอาชญากรรมอาจถือว่าเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานอย่างปราศจากขอบเขต อาจไม่ยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย เพราะตามหลักป้องกันตนเองในการพิจารณาคดี จำเลยสามารถซักค้านข้อมูลที่อ้างว่าได้มาจากสายลับได้ เพราะจำเลยและศาลไม่มีทางทราบว่าการอ้างอิงดังกล่าวกระทำถูกต้องตามกระบวนการเพียงพอจนนำมาเป็นหลักฐานในศาลได้หรือไม่

นอกจากนี้เจ้าพนักงานที่จับกุมจำเลยและเป็นพนักงานสอบสวนในคดีระบุว่าจำเลยยอมรับในชั้นจับกุมว่าเป็นเจ้าของเพจ และโพสต์ข้อความตามฟ้องเพื่อระบายอารมณ์ มูลเหตุจูงใจดังกล่าวมีความสำคัญแต่กลับไม่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารการตรวจค้นแต่อย่างใด คำเบิกความของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีลักษณะเป็นการปรักปรำจำเลย ในชั้นสอบสวนจำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธทั้งหมดว่าไม่ใช่เจ้าของอีเมลและไม่ใช่เจ้าของเพจ นอกจากนี้เมื่อนำพาสเวิร์ดที่ได้จากจำเลยมาทดสอบแล้วพบว่าสามารถเปิดคอมพิวเตอร์ได้ แต่ไม่สามารถเปิดอีเมล์หรือเฟซบุ๊กเพจที่ถูกฟ้องได้

ศาลอุทธรณ์ยังระบุด้วยว่า บริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน คดีลักษณะนี้มีความอ่อนไหวเนื่องจากกระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง หลักนิติรัฐจำเป็นต้องได้รับการเคารพ จะลงโทษจำเลยได้ก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยกว่าได้กระทำความผิด พฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่โจทก์นำเสนอแม้ปรากฏว่าจำเลยมีทัศนคติแตกต่างไปจากกลุ่มทางการเมืองอื่นที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ไม่อาจอนุมานโดยเหมารวมได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโดยที่พยานหลักฐานไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง หาไม่แล้วการบังคับใช้กฎหมายโดยสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อหลักนิติรัฐเช่นนี้ อาจส่งผลตรงกันข้ามเป็นการบั่นทอนความเคารพศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งบุคคลที่มีความจงรักภักดีอย่างแท้จริงย่อมไม่ต้องการให้เกิดผลเช่นนั้น

"การเทิดทูนและถวายความจงรักภักดีร่วมกันที่จะดำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นศูนย์รวมความผูกพัน ยึดโยงสถาบันต่างๆ ในชาติให้ดำรงความเป็นอาณาจักรอันไม่แบ่งแยกเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ซึ่งแม้อาจมีความแตกต่างกันบ้างทางความคิดและผลประโยชน์ แต่ควรมีปณิธานสมานฉันท์ เป็นพลังสามัคคี และในขณะเดียวกันหลักนิติรัฐที่ศาลพึงลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิดโดยหลีกเลี่ยงผลร้ายที่อาจเกิดแก่ผู้บริสุทธิ์ก็ต้องได้รับความเคารพไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน" คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุ

นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังระบุด้วยว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อสถาบันกษัตริย์ แม้มีผลทางกฎหมายสามารถลงโทษจำคุก ปิดกั้นเสรีภาพของจำเลยได้ แต่ในบริบทของสังคม การลงโทษทางสังคมหรือตราบาปทางสังคมมีผลไม่น้อยกว่าโทษทางอาญา เพราะความผิดดังกล่าวกระทบกระเทือนความรู้สึกคนไทยส่วนใหญ่ จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานให้ถี่ถ้วนกว่าคดีอาญาทั่วไป

โดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พร้อมสั่งเพิ่มเติมให้คืนคอมพิวเตอร์ของกลางแก่จำเลย

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายสุรภักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ผลคำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อคดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป อาจมีผลต่อการปรับปรุงกระบวนการได้มาซึ่งหลักฐานอันมิชอบของเจ้าพนักงาน

ทั้งนี้ สุรภักดิ์ถูกจับกุมที่ห้องพักเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2554 ไม่ได้อนุญาตให้ประกันตัวและอยู่ในเรือนจำราว 1 ปี 2 เดือน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อ 31 ต.ค.2554 ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ข้อมูลศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (http://freedom.ilaw.or.th) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของคดีนี้ว่าเริ่มต้นจากมีประชาชนชื่อ มานะชัย แสงสวัสดิ์ แจ้งเบาะแสไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ว่ามีเฟซบุ๊กที่กระทำความผิดซึ่งมีนายสุรภักดิ์เป็นเจ้าของ พร้อมให้ชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ แก่เจ้าหน้าที่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในการสืบพยานในศาล เจ้าหน้าที่เบิกความว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลผู้ให้เบาะแสนี้คือใครและไม่สามารถนำตัวผู้แจ้งเบาะแสมาเบิกความได้

หลังนายมานะชัยแจ้งเบาะแสไม่นาน มีนักศึกษาคนหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจทำให้เรื่องนี้เป็นคดีขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พยานปากนี้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลด้วย ซึ่งทั้งพยานและจำเลยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยานปากนี้ระบุว่าได้ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดงเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจึงสามารถเห็นข้อความหมิ่นที่ถูกโพสต์ได้และทำการ capture หน้าจอและพิมพ์ออกมาเป็นหลักฐานให้ตำรวจ

กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของกลางของจำเลยระบุว่า ไม่พบถ้อยคำหมิ่นสถาบันตามที่พนักงานสอบสวนให้ตรวจเช็คหลายรายการ แต่พบร่องรอยการใช้อีเมลตามฟ้องและการใช้เฟซบุ๊กตามฟ้องในฐานะเจ้าของเพจ โดยทำการกู้จาก temporary file ขึ้นมาได้อย่างละ 1 ไฟล์

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลยคือ คอมพิวเตอร์ของกลางดังกล่าวมีการเปิดใช้เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในวันที่ 2 ก.ย.เวลากลางคืน และ 7 ก.ย.2554 (อ้างอิงตามเอกสารที่อยู่ในสำนวนคดี) ทั้งที่จำเลยถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2554 ช่วงบ่ายแล้ว ซึ่งเมื่อพยานจากกองพิสูจน์หลักฐานดูเอกสารก็รับว่าเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันว่า temporary file หรือ cache ที่เจ้าหน้าที่กู้ได้และใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้เป็นเอกสารจริงหรือไม่ โดยฝ่ายจำเลยชี้ว่าอีเมลและโดยเฉพาะเฟซบุ๊กจะมีระบบที่กำหนดไม่ให้คอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเก็บ temporary file ใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งาน อีกทั้งตามหลักฐานในสำนวนยังพบว่ามีการเก็บไฟล์ดังกล่าวใน partition ที่สองของเครื่อง ไม่ใช่ partition หลัก ซึ่งถือว่าผิดปกติ

ฝ่ายจำเลยระบุว่า ไฟล์ที่เกิดจาก cache file จะไม่มี source code ในภาษา html ส่วน source code ที่เจ้าหน้าที่ได้มาและใช้เป็นหลักฐานในคดีนั้นเป็นการ copy มาจากหน้าเว็บโดยการเข้าไปในเว็บไซต์เฟซบุ๊กแล้วคลิกขวาคัดลอก source code โดยเปลี่ยนข้อความให้เป็นอีเมลที่ต้องการ แล้วนำมาลงไว้ใน partition 2 ในเครื่องของกลางเสมือนว่าเจ้าของเครื่องได้เข้าไปใช้งานเว็บไซต์นั้นจริงๆ อีกทั้งในเอกสาร source code ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการเข้าใช้เฟซบุ๊กเพจของจำเลยก็เป็นภาษา htm ขณะที่ source code ของเฟซบุ๊กใช้ภาษา php ดังนั้นจำเลยจึงสันนิษฐานว่าไฟล์ที่นำมาใช้ฟ้องคดีนี้มีการแก้ไขสาระสำคัญที่ต้องการ

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ อนุญาตให้จำเลยนำคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการสืบพยานเพื่อแสดงให้ศาลเห็นความง่ายในการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ก่อนจะทำการพิมพ์มาเป็นพยานเอกสารในสำนวนคดีด้วย ท้ายที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยระบุว่าจากพยานหลักฐานทั้งหมดไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างอีเมล์แอดเดรสที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามฟ้องในคอมพิวเตอร์ของจำเลย และพิจารณาหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดปกติหลายประการดังที่จำเลยนำสืบจริง เนื่องจากข้อมูลลักษณะดังกล่าวอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ดังนั้นในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์จึงต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ซึ่งต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ ลักษณะหรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องพยายามรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้ หลักฐานที่ระบุให้เห็นการเปิดใช้งานคอมพิวเตอร์ของกลางในวันที่จำเลยโดนควบคุมตัวแล้วทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ของกลางมีข้อบกพร่อง กระทบต่อความน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง