กสทช.ให้ทีวีดิจิทัล 24 ช่องขายหุ้นได้ 100% แต่ห้ามขัดเกณฑ์และกฎหมายครอบงำกิจการ

สังคม
14 ส.ค. 58
11:04
371
Logo Thai PBS
กสทช.ให้ทีวีดิจิทัล 24 ช่องขายหุ้นได้ 100%  แต่ห้ามขัดเกณฑ์และกฎหมายครอบงำกิจการ

กสทช.พร้อมเปิดทางทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ซื้อขายหุ้นได้ 100 % แต่ห้ามขัดเกณฑ์กสทช.และกม.ครอบงำกิจการ ทนายความไทยทีวีเผยเป็นทางออกที่ดี หลังยอมออกอากาศต่ออีก 3 เดือน ไม่ให้จอดำ

วันนี้ (14 ส.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญตัวแทนผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงาน กสทช. ชี้แจงและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับประเด็น การซื้อขายหุ้น เพิ่มทุน และแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ ภายใต้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. กล่าวว่า การซื้อขายสามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การรักษาสัดส่วนถือครองหุ้นให้ได้ตาม ตาม มาตรา 31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 2551 ซึ่งการซื้อขาย จะต้องเป็นเฉพาะผู้รับใบอนุญาตประกบกิจการทีวีดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งนิติบุคคลอื่น สามารถซื้อขายได้ แต่ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแจ้งให้ สำนักงาน กสทช.ทราบล่วงหน้าก่อน 60 วัน

นางรมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง กล่าวถึงการควบรวมกิจการว่า การครอบงำกิจการ จะเกี่ยวข้องกับ มาตรา 31 และ มาตรา 32 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งการประมูลทีวีดิจิทัล ได้กำหนดเกณฑ์ การถือครองใบอนุญาตมีเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจน แต่อนาคต หากดูมิติของการซื้อ-ขายหุ้น เพื่อทำธุรกิจ และผู้ประกอบการต้องการร่วมทุนกันนั้น จะสามารถซื้อขายได้แต่ต้องไม่ขัดกับเงื่อนไขเดิมของ กสทช. ที่กำหนด เช่น ห้ามผู้ประกอบกิจการช่องทีวีดิจิทัลถือครองใบอนุญาตเกิน 3 ใบ ( 3 ช่อง ) , ห้ามช่องข่าวซื้อช่องข่าว เกินสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด และ ห้ามผู้ถือใบอนุญาตช่องความคมชัดสูง (เอชดี) ถือครองใบอนุญาตช่องข่าว และห้ามครอบงำกิจการ หรือ ลดทอนอำนาจการแข่งขันในตลาด

โดยข้อกำหนดนี้ สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วในขณะนี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาจไม่เข้าใจ วันนี้ จึงมีการทบทวนกฎ กติกา รวมถึง หลักการขออนุญาตควบรวมกิจการ หากบริษัทที่จะเข้ามาครอบครอง มีรายได้ต่อปีเฉลี่ย น้อยกว่า 120 ล้านบาท และ สินทรัพย์น้อยกว่า 800 ล้านบาท ต้องแจ้งข้อมูลไปที่ สำนักงาน กสทช. รับทราบด้วย

น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง 1-3 สำนักงาน กสทช. กล่าวถึง กรณี การแบ่งเวลาให้เช่ารายการทีวีดิจทัล ตามหลักคือ บริษัทที่มาเช่าเวลาจะเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่ต้องได้รับสิทธิ์จากผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัลให้ผลิตและเผยแพร่รายการ แต่อำนาจบริหารจัดการสถานีช่องทีวีดิจิทัล และความรับผิดชอบหากเนื้อหาที่ออกอากาศมีปัญหาหรือขัดกฎหมาย จะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่ถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล

สำหรับสัดส่วนการแบ่งเช่าเวลา หากมีผู้มา"ขอใช้"ช่วงเวลาออกอากาศ ผู้ถือครองใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล สามาถพิจารณาให้ออกอากาศได้ แต่ไม่เกินสัดส่วนร้อยละ 10 ของช่วงเวลาที่ออกอากาศทั้งหมด แต่หากมีผู้"ขอเช่า"เวลา ผู้ถือครองใบอนุญาต จะให้เช่าได้ แต่ไม่เกินสัดส่วนร้อยละ 40 ของช่วงเวลาที่ออกอากาศทั้งหมด โดยให้ดูความเหมาะสมเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลา , ไม่จำกัดการผูกขาดในการแข่ง , ผู้ที่รับช่วงจากการแบ่งเวลาไปแล้ว ต้องผลิตรายการเอง หรือ หาเนื้อหามาออกอากาศเอง แต่จะไม่สามารถปล่อยให้เช่าช่วงเวลาต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ถือครองใบอนุญาต จะต้องจ่ายค่าตอบแทนการแบ่งช่วงเวลาให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้น สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบเอง

กรณีแบ่งให้เวลาเช่าช่วง จะต้องแจ้งให้ กสทช. ทราบ ซึ่งผู้ให้เช่า จะไม่สามารถระงับออกอากาศรายการของผู้มาเช่าได้ หรือ ปรับผังรายการที่กระทบกับผู้เช่า ยกเว้น เกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรายการสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบ ส่วนกรณีที่การออกอากาศเนื้อหารายการของผู้มาเช่า มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผู้รับใบอนุญาตจะต้องรับผิดชอบแทน แต่ทางรายการนั้น ก็จะถูกตักเตือนเช่นกัน

ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า สำหรับกรณีช่องข่าวกับช่องข่าว มีกติตาที่ชัดเจน คือให้ซื้อขายได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 เหมือนที่ผ่านมา ที่เป็นประเด็น คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ช่องสปริงนิวส์ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลประเภท "ช่องข่าว" เข้าซื้อหุ้น ช่องเนชั่นทีวี ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตฯ ประเภท "ช่องข่าว" ก็ต้องมีการเจรจาให้ปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นไม่เกินร้อยละ 10

สำหรับการซื้อขายหุ้นในกิจการในช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง แต่หากเป็นบริษัทรายอื่น ที่ไม่ใช่ผู้ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ก็สามารถซื้อขายได้ตามหลักการทำธุรกิจ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์และข้อห้ามของ กสทช. แต่สิ่งที่กสทช.ให้ความสำคัญและต้องตรวจสอบมาก คือ การซื้อขายในกลุ่มประเภท"ช่องข่าว" ที่จะต้อพิจารณาหลักเกณฑ์การครอบงำ และการถือหุ้นแทน (นอมินี) อย่างละเอียดหลายลำดับชั้นในการถือครองหุ้น โดยการซื้อขายหุ้น แม้หลักการจะให้ทำได้ทั้ง 100% แต่ทางปฏิบัติ ก็จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีๆ

นายอัถต์ ปาลถวัลย์พงษ์ ทนายความ บริษัท ไทยทีวี เปิดเผยว่า หลังจากได้รับฟังการชี้แจงของ สำนักงานกสทช. เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น เพิ่มทุน และแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ ภายใต้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้น เบื้องต้นที่เดินทางมาฟังวันนี้ สืบเนื่องจากได้รับมอบหมายจากบริษัทไทยทีวี ให้มาฟังเงื่อนไขของกสทช.ว่า เป็นอย่างไร และจะสามารถแก้ไขปัญหาที่บริษัทประสบปัญหาขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท ได้หรือไม่

“หลังจากนี้ จะกลับไปปรึกษานางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล ผู้บริหารเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป และหากบริษัทตัดสินใจอย่างไร ก็จะดำเนินการตามนั้น ที่ผ่านมาไทยทีวี ได้พยายามแก้ปัญหาเองทุกวิถีทาง และมีการประชุมหารือเป็นการภายใน ตามที่ศาลปกครองได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งก็ต้องดูว่า จากข้อมูลวันนี้ จะมีโอกาสที่จะแก้ไข แต่ว่าจะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับทีมผู้บริหารด้วย”

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางนัดตัวแทนสำนักงานกสทช. ผู้ถูกฟ้อง และบริษัทไทยทีวี ในฐานะผู้ยื่นฟ้อง ไต่สวนเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2558 โดยผู้บริหารไทยทีวี ยินยอมจะออกอากาศ ช่อง"ไทยทีวี" และ "โลก้า" ต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อรักษาสภาพหน้าจอโทรทัศน์ไม่ให้จอดำ ส่งกระทบผู้ชม ตามที่กสทช.ร้องขอและระหว่างนี้ จะต้องหาพันธมิตรร่วมทุนที่สนใจ และจนขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยจากทีมผู้บริหาร ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง