“ผาสุก” ชี้ระบบราชการยอมรับการคอร์รัปชั่น กลไกตรวจสอบล้มเหลวเอื้อขรก.-นักการเมือง

22 ส.ค. 58
07:58
235
Logo Thai PBS
“ผาสุก” ชี้ระบบราชการยอมรับการคอร์รัปชั่น กลไกตรวจสอบล้มเหลวเอื้อขรก.-นักการเมือง

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ชี้ระบบราชการยอมรับวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น กลไกตรวจสอบทุจริตล้มเหลวเอื้อข้าราชการนักการเมืองคอร์รัปชั่นต่อเนื่อง เผยแก้ไม่ได้ด้วยกรอบศีลธรรม แต่การมีระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตย จะทำให้ประชาชน-สื่อมีเสรีภาพตรวจสอบมากขึ้น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวปาฐกถา

ศ.ผาสุกแสดงปาฐกถาว่า จากกรณีคอร์รัปชั่นดังๆ 3 เรื่องในประเทศไทย ได้แก่ การโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 ล้านบาท โจรช่วยจับคอร์รัปชั่นจากคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และการจัดซื้อเครื่อง CTX 9000 ที่มีการเปิดเผยจากหน่วยงานของสหรัฐฯ ว่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดมีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีส่วนต่างของราคา ทั้ง 3 กรณีเป็นการคอร์รัปชั่นที่มีวงเงินสูง และเป็นคดีที่เกิดจากการถูกเปิดโปงจากบุคคลภายนอกทั้งสิ้น แสดงเห็นให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบภายในระบบราชการ และหน่วยงานตรวจสอบทุกทุจริตอย่าง ป.ป.ช.มีความอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ

ศ.ผาสุกระบุว่า การคอร์รัปชั่นในไทยมีรูปแบบใน 2 ระดับ ได้แก่ การคอร์รัปชั่นภาคครัวเรือน ได้แก่ สินบนเงินพิเศษเล็กน้อยที่ถูกเรียกรับเมื่อมีการติดต่อกับหน่วยราชการ และการคอร์รัปชั่นภาคธุรกิจที่มีสินบนในวงเงินที่สูง เช่น ค่าหัวคิวของโครงการขนาดใหญ่ การจ่ายเงินซื้อตำแหน่ง เหล่านี้เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่ทำให้สาธารณะเสียประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่การคอร์รัปชั่นที่เป็นวงเงินสูงมักทำโดยข้าราชการที่มีการศึกษาสูง เคยผ่านหลักสูตรเครือข่ายนักบริหาร

“เหตุผลที่ทำให้การคอร์รัปชั่นแก้ไขได้ยาก เนื่องจากในระบบราชการมีวัฒนธรรมของการยอมรับการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในกระทรวงเกรดเอ ขณะที่เมื่อข้าราชการและนักการเมืองระดับบิ๊กมีการทุจริต กลับไม่สามารถเอาผิดและลงโทษได้ ซึ่งมีเป็นอัตราสูง ส่งผลให้อาจเป็นตัวอย่างให้ข้าราชการกระทำการคอร์รัปชั่น เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถถูกตรวจสอบ”

อาจารย์ผาสุกยังอธิบายให้เห็นการปราบคอร์รัปชั่นว่า เหตุใดจึงสามารถทำได้ยากจาก 4 มุมมอง ได้แก่ มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ต้นทุนของผู้ทำการคอร์รัปชั่น มุมมองด้านศีลธรรมจริยธรรมที่มองว่า เหตุของการคอร์รัปชั่น เกิดขึ้นจากการให้คุณค่ากับตัวเงินมากกว่าคุณค่าของการไม่ทุจริต โดยมีทางออกด้วยการทำให้คนดี ขณะที่มุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นการแสวงหาการสะสมทุนที่สัมพันธ์ กับแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ในช่วงที่การเมืองเป็นระบอบเปิด เป็นประชาธิปไตย จะเอื้อให้ภาคประชาสังคมและสื่อ สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการได้มากกว่าช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการ และในมุมมองของนักวิเคราะห์สังคมในระยะเปลี่ยนผ่านที่มีแนวคิดว่าสังคมยังสับสนว่าอะไรคือการคอร์รัปชั่นที่สร้างความเสียหายต่อสังคม เช่น การแยกไม่ออกว่าอะไรคือสินบนหรือน้ำใจ

อาจารย์ผาสุกชี้ให้เห็นว่า การแก้คอร์รัปชั่นจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า แก้ยาก เพราะว่า ระบบสถาบันสังคมอ่อน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น ป.ป.ช.อ่อนแอ ผู้ทุจริตลอยนวลไม่ถูกลงโทษหรือการใช้เวลานานในการตรวจสอบ ทำให้แรงจูงใจของการทุจริตมีสูง เพราะผลได้จากการคอร์รัปชั่นมากกว่าต้นทุนหลายเท่า จึงมีวิธีการแก้ไขโดยเพิ่มให้สถาบันตรวจสอบเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ขณะที่มุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น จะพิจารณาด้วยว่าระบอบการเมืองมีผลต่อระดับการคอร์รัปชั่นและความสามารถในการตรวจสอบ

“สิงคโปร์ไร้คอร์รัปชั่น เพราะมีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย จีนแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตด้วยการลงโทษประหาร แต่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ต้องการอย่างนั้นจริงหรือ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เผด็จการไม่ว่าในไทยหรือที่ไหนไม่เคยจัดการคอร์รัปชั่นได้ผลยืนยาว แม้ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ใช้มาตรา 17 ที่คำนวณจากข้อมูลที่หาได้พบว่า มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นใน ยุคนั้นอย่างน้อยร้อยละ 1 ของ GDP ซึ่งสูงมากในประวัติศาสตร์ไทย หรือแม้แต่มาตรา 44 ในปัจจุบัน ก็แก้คอร์รัปชั่นไม่ได้” ศ.ผาสุก กล่าว

นอกจากนี้ ศ.ผาสุกยังสรุปทางออกของการแก้คอร์รัปชั่นในตอนท้ายว่า สามารถทำได้ ในระดับหน่วยราชการให้แก้ไขเฉพาะจุดในหน่วยงานที่มีปัญหามาก และถ้ามีหลักฐานต้องลงโทษทันทีด้วยโทษที่หนัก ขณะที่องค์กรที่คอร์รัปชั่นยาวนานอาจใช้วิธีการนิรโทษกรรมและกำหนดเวลาเพื่อลงดาบ อย่างเช่นประสบการณ์ในการแก้คอร์รัปชั่นของวงการตำรวจฮ่องกง ในระดับสถาบันระบบุตลาการต้องเข้ามาตรจสอบมากขึ้น หรือการจัดตั้งศาลพิเศษ เช่นในอินโดนีเซีย แต่ก็ยอมรับว่า วิธีการนี้ใช้ต้นทุนสูง ขณะเดียวกันในระดับภาคประชาสังคม ต้องเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วม สื่อตรวจสอบมากขึ้น รวมทั้งการมีระบบการเมืองการปกครองที่เอื้อให้ภาคประชาสังคมเหล่านี้ตรวจสอบ

“ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า การรัฐประหารจะช่วยแก้ไขคอร์รัปชั่นได้ บางครั้งยิ่งอาจมีการปรับปรุงระบบราชการให้เป็นระบบปิด ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นยากขึ้นไปอีก จาก 25 ปี ของการศึกษาด้านการคอร์รัปชั่นพบว่า การแก้ไขจะทำได้ต่อเมื่อภาคประชาชนและสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบการเมืองแบบเปิดมากกว่าการมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะเห็นว่าช่วงระยะที่การเมืองเปิดในรูปแบบประชาธิปไตย จะเอื้อต่อการตรวจสอบคอร์รัปชั่นได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้เพราะถูกขัดจังหวะด้วยการรัฐประหารมาตลอด” อาจารย์ผาสุกกล่าว

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง