พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ 2 ก.ย. - ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง เปิดเผยตัวลูกหนี้

สังคม
31 ส.ค. 58
04:42
185
Logo Thai PBS
พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ 2 ก.ย. - ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง เปิดเผยตัวลูกหนี้

วันที่ 2 ก.ย.นี้ ประชาชนที่เป็นลูกหนี้จะมีกฎหมายคุ้มครองแล้วหลังจาก พ.ร.บ.ทวงหนี้ มีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดวิธีการทวงหนี้ที่ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาดูหมิ่น เปิดเผยตัวลูกหนี้ หรือใช้ข้อความสื่อความหมายในการทวงถามไม่เหมาะสม ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

หลัง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งก็ทำให้ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ ก็จะครบกำหนดที่พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ นายวีระศักดิ์ โชติวานิช ทนายความ กล่าวว่า กฎหมายทวงหนี้ฉบับนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกบังคับใช้บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพทวงหนี้ที่เปิดบริษัทรับติดตามหนี้สิน ซึ่งรับคดีมาจากสถาบันการเงินการทวงหนี้จึงต้องไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของมหาดไทย ส่วนที่ 2 ใช้กับทนายความที่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับสภาทนายความ กรณีเปิดสำนักงานและรับติดตามหนี้สิน โดยทั่วไปแล้วกฎหมายทวงหนี้จะคุ้มครองประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการทวงหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ ซึ่งการทวงหนี้ต้องไม่กระทำเปิดเผย การใช้ซองจดหมายจะเปิดผนึกไม่ได้ใช้ไปรษณียบัตรหรือมีข้อความให้รู้ว่าเป็นการทวงหนี้ไม่ได้ การทวงหนี้ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เกินเวลา 18.00 น.ไม่ได้ และต้องใช้กิริยาสุภาพ

ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กฎหมายทวงนี้ฉบับนี้ เป็นการป้องปรามการทวงถามหนี้ที่เกินความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การยึดทรัพย์สิน หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งการทวงถามหนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพทวงถามหนี้ที่ไม่ใช่ทนายความหรือเป็นทนายความก็ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของสภาทนายความที่ต้องอยู่ในกรอบ ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางอาญา ทั้งนี้กฎหมายทวงนี้ฉบับนี้ได้กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 24 และทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง