"พ.ร.บ.สัตว์ป่า"เปิดทางนายทุนแสวงสมบัติชาติ จี้ทบทวน-เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน

Logo Thai PBS
"พ.ร.บ.สัตว์ป่า"เปิดทางนายทุนแสวงสมบัติชาติ จี้ทบทวน-เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน

กว่า 20 ปี ที่ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าไทย อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความพยายามร่างกฎหมายฉบับใหม่ เมื่อปี 2548 คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า

แม้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพื่อให้การคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม แต่หนึ่งในเจตนารมณ์กฎหมายที่เน้นการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ออกกฎหมายดังกล่าวยังไม่เป็นผล เพราะมีข้อคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีช่องให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์จากสมบัติของชาติ
 
ปี 2548-2550 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าขึ้น เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ด้วย 3 เหตุผลหลัก คือให้กฎหมายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน นโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนของรัฐบาลในสมัยนั้น และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9
 
หากรายละเอียดในหลายมาตรา กลับเน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะการบัญญัติเรื่องเขตบริการ เขตหวงห้าม และเขตผ่อนปรน ให้ภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวลงทุนทำการก่อสร้างสิ่งได้มากขึ้น มากกว่าที่จะสงวนรักษาป่าและสัตว์ป่าไว้
 
หลายภาคส่วนในสังคมและนักอนุรักษ์ สะท้อนว่านี่ คือการเปิดป่าให้นายทุน นำเอาทรัพยากรของชาติประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และผืนป่าจะถูกทำลายมากขึ้น เพราะเป็นร่างฯ กฎหมายที่สนองนโยบายเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รักษาสัตว์ป่าและผืนป่า ท่ามกลางกระแสสังคมที่ออกมาคัดค้านถึงความไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องชะลอการพิจารณาออกไป
 
ปี 2558 ร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายครั้ง จนนำมาสู่การปรับปรุงล่าสุด เป็น"ร่างพระราชบัญญัติสัตว์ป่า" ซึ่งในมุมขององค์กรด้านอนุรักษ์ ยังเห็นว่ารายละเอียดเนื้อหาร่างกฎหมายหลายมาตรายังมีปัญหาในทางปฏิบัติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง