เตรียมรับแผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน

เศรษฐกิจ
21 เม.ย. 58
05:28
365
Logo Thai PBS
เตรียมรับแผนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวัน

วันแรงงานแห่งชาติปีนี้ สภาองค์กรลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เตรียมยื่นข้อข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งในอนาคตหากคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันในอัตราใหม่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด ซึ่งต้องมีการวางแผนการบริหารต้นทุนการผลิตใหม่เพื่อรองรับการจ่ายค่าแรง ขณะที่ในประเทศอาเซียนก็ได้เกิดกระแสการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเช่นเดียวกับไทย

กระแสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  แต่ยังมีในประเทศอาเซียนด้วย โดยแรงงานอุตสากรรมเสื้อผ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในกัมพูชา ได้ออกมาประท้วงขึ้นค่าแรงในปี 2557 จนทำให้รัฐบาลปรับขึ้นเงินค่าแรงร้อยละ 28 ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการชุมนุมประท้วงขอปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2557 เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลกำหนดปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพียงร้อยละ 11 ในปี 2558 ภายหลังรัฐบาลประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงร้อยละ 30 ตามนโนบายลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ส่วนประเทศลาวนั้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2558 รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นเงินเดือนให้ถึงร้อยละ 43.8 และหากต้องทำงานที่เสี่ยงต่อสุขภาพ หรืออันตราย รัฐบาลจะเพิ่มให้อีกร้อยละ 15 เนื่องจากเป็นกังวลถึงปัญหาแรงงานขาดแคลน

สำหรับแนวคิดการใช้แรงงานราคาถูก ต้นทุนต่ำ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาตลอดหลายปีนั้นกำลังจะหมดไป เพราะกระแสการเรียกร้องขึ้นค่าแรงในอาเซียนกำลังขยายตัวเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางการปรับตัวต่อสถานการณ์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต คือการขึ้นราคาสินค้า, การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง, เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน, การนำเทคโนโลยีช่วยการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าการส่งเสริมวิสาหกิจที่มีการเติบโตสูง (High Growth Entrepreneurs) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะการสร้างงานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ  ค่าตอบแทนสูงแก่ภาคแรงงาน และเป็นตัวเร่งการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่จะต้องเป็นนโยบายเฉพาะด้านนอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วไป
 
ขณะที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการเติบโตสูงของประเทศไทย พิจารณาจากมูลค่า GDP ของเอสเอ็มอี, การจ้างงาน, รายได้ผลประกอบการ และนโยบายของภาครัฐ มีประมาณ 12 กลุ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ  ธุรกิจสมุนไพรและเครื่องสำอาง  และธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ในอนาคตต้องรอคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบไปด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ พิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างรายวันใหม่ได้เท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงมา 3 ปีแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง