เปิดข้อมูล "ไบลาล" จากผู้ช่วยเหลือชาวอุยเกอร์สู่ผู้ต้องสงสัยระเบิดราชประสงค์

อาชญากรรม
1 ก.ย. 58
14:57
67
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูล "ไบลาล" จากผู้ช่วยเหลือชาวอุยเกอร์สู่ผู้ต้องสงสัยระเบิดราชประสงค์

วันที่ 29 ส.ค.2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นพูลอนันต์ อพาร์ทเมนต์ ถ.เชื่อมสัมพันธ์ ย่านหนองจอก และจับกุมชายต่างชาติคนหนึ่งพร้อมด้วยของกลางเป็นวัตถุประกอบระเบิดจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นผู้ต้องสงสัยคนแรกที่ถูกจับกุมในความเชื่อมโยงกับระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อ 17 ส.ค.2558 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 20 คน ผ่านไป 3 วัน ชายคนนี้ยังถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน ขณะที่เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับเขาปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งข้อมูลที่ว่าเขาเป็นคนที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ชาวอุยเกอร์ที่ถูกจับในประเทศไทย

แหล่งข่าวเปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอส" ว่า จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลว่า ชายคนนี้ชื่อ "ไบลาล" อายุ 47 ปี เป็นคนยากจน อาศัยอยู่ในนครอิสตันบูลของตุรกี ค่อนข้างเคร่งศาสนา เขาตัดสินใจเดินทางมาเวียดนาม บังเอิญไปพบกับชายคนหนึ่งชื่ออับดุลเลาะห์ พาไปทำพาสปอร์ตปลอม เพื่อเดินทางเข้าลาวและสุดท้ายเข้ามาไทย

มีความเป็นไปได้สูงว่านายไบลาลมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวอุยเกอร์ เพราะในเจ้าหน้าที่องค์กรด้านมุสลิมที่ทำงานช่วยเหลือชาวอุยเกอร์ให้ข้อมูลตรงกันว่าเคยพบเห็นนายไบลาลคอยวิ่งเต้นคดีเพื่อช่วยเหลือชาวอุยเกอร์ที่ถูกจับบ่อยครั้ง และในห้องพักที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นเมื่อวันเสาร์ก็พบพาสปอร์ตหลายเล่ม คาดว่าทำให้ชาวอุยเกอร์ที่ต้องการไปตุรกี 

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ คนขับรถรับส่งชายเสื้อเหลืองที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้วางระเบิด พบข้อมูลว่าเขารู้จักกับนายหน้าค้ามนุษย์รายใหญ่คนหนึ่งใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส คนขับรถรับส่งคนนี้มักจะทำหน้าที่รับชาวอุยเกอร์ไปส่งที่ขนส่งสายใต้เพื่อเดินทางไปที่ จ.นราธิวาส ขณะนี้กำลังสอบปากคำเพิ่มเติม หลังการให้การครั้งแรกไม่ตรงกับข้อมูลที่ตำรวจมี

โดยสรุปแล้วฝ่ายความมั่นคงพบขบวนการค้ามนุษย์รับชาวอุยเกอร์อพยพออกมาจากมณฑลซินเจียงผ่านประเทศเพื่อนบ้านเข้าทางชายแดนไทย มีค่าหัวการเดินทางต้องจ่ายให้นายหน้าต่อคนสูงถึง 100,000 - 200,000 บาท และข้อมูลที่ได้จากชาวอุยเกอร์ที่ถูกจับได้มักพูดตรงกันว่า เวลาที่มีปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับให้ต่อสายถึงคนคนหนึ่งมีปลายทางที่อิสตันบูล

ขณะนี้มี  2 เรื่องคู่ขนานกันคือขบวนการที่เข้ามาวางระเบิดกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวอุยเกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนเดียวกับโรฮิงญา เป็นไปได้ว่า การที่ไทยส่งตัวชาวอุยเกอร์กลับไปจีน 109 คน อาจจะไปทำให้ขบวนการค้ามนุษย์เสียผลประโยชน์ ชาวอุยเกอร์เริ่มไม่มั่นใจว่าถ้าเข้ามาไทยแล้ว จะได้ไปตุรกีหรือไม่ในขณะเดียวกันก็กระทบกับความรู้สึกในฐานะคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์กเหมือนกัน ตำรวจพยายามจะหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง