ดนตรีนาฏศิลป์อาเซียนสัมพันธ์

Logo Thai PBS
ดนตรีนาฏศิลป์อาเซียนสัมพันธ์

วิธีคิดสำคัญของโครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการด้านดนตรี-นาฏศิลป์ในภูมิภาคอาเซียน คือการให้ครูเป็นสื่อกลางส่งต่อความรู้ ในห้องเรียนที่ จ.มหาสารคาม ครูและศิษย์ดนตรี-นาฏศิลป์ไทยได้เปิดมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ 10 ประเทศ เรียนจังหวะท่วงท่าที่ทั้งสนุกและเชื่อมสัมพันธ์ ติดตามจากรายงาน

หัวใจสำคัญของการเรียนนาฏศิลป์เมียนมาคือการฟังจังหวะและฝึกท่ารำแม่บทเป็นพื้นฐาน ซึ่งการมาเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงกับ ต๋วยต๋วยวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ของเมียนมา ก็พาให้ครูและศิษย์ดนตรี-นาฏศิลป์ไทย ในโครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการด้านดนตรี-นาฏศิลป์ในภูมิภาคอาเซียน สนุกไปกับจังหวะและบทเรียนเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเสียงดนตรีและการแสดงทางวัฒนธรรมจาก 10 ประเทศอาเซียน ในห้องเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นดังเครื่องมือส่งต่อความรู้ สร้างทัศนคติใหม่ต่อเพื่อนบ้าน

อาจไม่ค่อยมีโอกาสเห็นการแสดงรื่นเริงของบรูไนกันเท่าไร แต่การรำพัดแบบนี้ก็แสดงถึงการสร้างสรรค์ท่วงท่าจากกะลาและพัดอย่างสนุก

ตารีซามาลินดัง หรือ การแสดงรำพัดคู่ของบูรไน ได้ชื่อว่าเป็นการแสดงแทนความงามของสตรีในทัศนะชาวบรูไน คือมีความมั่นใจ เอื้ออาทร มีเมตตา เป็นหนึ่งในการแสดงที่นิยมถ่ายทอดยามมีงานรื่นเริง เช่นเดียวกับ อาดุ๊กอาดุ๊ก หรือ รำกะลาที่ผู้ชายจะเป็นผู้แสดงเพื่อฉลองหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยมีท่วงท่าส่วนหนึ่งคล้ายกับปันจักสีลัต การแลกเปลี่ยนในห้องเรียนเล็กๆ เปิดประตูสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมได้ไม่น้อย

โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์ในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากความร่วมมือของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ สมาคมครูดนตรี(ประเทศไทย) จัดในพื้นที่ภาคใต้และอีสาน เป็นสัปดาห์แห่งการเดินทางร่วมกันของคนดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียน ที่มีความหมาย สะท้อนความแตกต่างหลากหลายการถ่ายเทผสมผสานท่วงทำนองของกลุ่มคนในอุษาคเนย์ ที่เชื่อมจากอดีตถึงปัจจุบัน

ยิ่งได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ยิ่งเห็นความเป็นเครือญาติทางดนตรีอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการเชื่อมอาเซียนด้วยวัฒนธรรม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง