เครือข่ายฯจัดค่ายเยาวชนเลยจี้บริษัทเอกชน หยุดคุกคามนร.ม.4 กรณีเสนอข่าวเหมืองทอง

สิ่งแวดล้อม
15 ก.ย. 58
02:45
178
Logo Thai PBS
เครือข่ายฯจัดค่ายเยาวชนเลยจี้บริษัทเอกชน หยุดคุกคามนร.ม.4 กรณีเสนอข่าวเหมืองทอง

เครือข่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แจงกรณีเหมืองทองเมืองเลย ขู่ฟ้องนักเรียน ม.4 รายงานข่าวผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ขณะที่คณะผู้จัดค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ยืนยันเนื้อหาที่นำเสนออยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงไม่ได้มีการบิดเบือน เรียกร้องรัฐ นายทุนหยุด ข่มขู่คุกคามเยาวชนในพื้นที่ โดยให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนยันดำเนินกิจกรรมต่อไป

วานนี้ (14 ก.ย.2558) ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) คณะผู้จัดค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ กลุ่มอาสาสมัครโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดแถลงข่าวชี้แจงกรณีผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ขู่ฟ้องทีมงาน และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย ในฐานะนักข่าวพลเมืองและผู้เข้าร่วมค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิด หลังรายงานข่าวปัญหาในพื้นที่โดยมีเนื้อหาบางช่วงระบุว่า “ลำน้ำฮวย แหล่งน้ำสาธารณะใน ต.เขาหลวง ไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภค เพราะ...” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558 ตอน “นักสืบลำน้ำฮวย แทัๆแน๊ว”

เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมระบุว่า การที่มีการคุกคามและข่มขู่ ครอบครัวของนักเรียนชั้นม.4 ที่รายงานข่าวดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558 มีชายอ้างตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่เหมืองแร่ทองคำพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้า เข้ามาพูดคุยกับนักเรียนชั้นม.4 ในลักษณะการข่มขู่ ส่งผลให้นักเรียนชั้นม.4 และครอบครัวเกิดความกังวล ต่อความปลอดภัย

ขณะที่ น.ส.ศักดิ์สินี เอมะศิริ ผู้ประสานงานทีมข้อมูลและสื่อ ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวถึงกระบวนการทำข่าวพลเมือง หนึ่งในกิจกรรมของค่ายเยาวชน ว่า เพื่อให้เยาวชนได้รู้เรียนรู้การสื่อสารพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้เพิ่มและเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน โดยเนื้อหาที่มีการนำเสนอว่าน้ำใน ลำน้ำฮวยไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคเพราะ... เป็นการนำเสนอข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและพิสูจน์ได้ อันเป็นข้อมูลที่เยาวชนและคนในชุมชนทราบกันดีอยู่แล้ว เห็นได้จากการที่สาธารณะสุขได้ติดป้ายห้ามอุปโภคบริโภคน้ำในลำน้ำฮวยอยู่แล้ว

สำหรับการรายงานข่าวปัญหานี้เป็นการใช้เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน เยาวชนและทีมสื่อ ที่จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นผลประโยชน์ของชุมชนเอง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นการปกป้องผลประโยชน์ได้เสียของชาวบ้าน และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ หากบุคคลหรือกลุ่มบริษัทใดมองว่า อุตสาหกรรมเหมื่องแร่ในพื้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวติและสิ่งแวดล้อมก็ขอให้ออกมาชี้แจง

“การขู่ฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดค่ายเยาวชนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดค่ายไม่เกี่ยวกับเยาวชน ครอบครัวเยาวชนที่ถูกพาดพิงเริ่มกังวลถึงความไม่ปลอดภัย” น.ส.ศักดิ์สินีกล่าว

สอดคล้องกับน.ส.ศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ระบุว่า เชื่อว่าสิ่งที่เยาวชนทำ มีเจตนารมณ์ที่เป็นอิสระและสร้างสรรค์แต่เรื่องนี้กลับกระทบต่อสิทธิ์เสรีภาพของเยาวชนในพื้นที่ และค่ายเยาวชนเป็นค่ายที่สร้างสรรค์ในฐานะผู้จัดก็ต้องออกมาแสดงความจำนงและความรับผิดชอบ ส่วนกรณีนักข่าวพลเมือง ชั้น ม.4 ขณะนี้มีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังคงมีกำลังใจที่ดี เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่ และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เข้าไปให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง

“ทางโครงการยังคงสนับสนุนกิจกรรมนี้ต่อไป เพราะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริง และยังเชื่อมั่นว่าเราสร้างคนเพื่อไปสร้างสังคม” น.ส.ศิริพร ระบุ

ทางด้าน นายภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกธิ์ชัย ผู้ประสานงานค่ายเยาวชนฯ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ระบุว่า การใช้คำพูดที่ข่มขู่ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เอาเปรียบชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมาย และให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดค่าย ยังยืนยันที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องต่อไป ตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้กับเยาวชน โดยมีเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ด้านต่างๆ ให้เข้าใจรากเหง้า ภูมิปัญญา คุณค่าและรู้รักษาบ้านเกิดของตนเอง
ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจ กฎหมาย มาข่มขู่ คุกคาม และปิดกันเสรีภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน กับประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม และเชื่อว่าค่ายเด็กและเยาวชนเป็นกระบวนการเรียนรู้บนพื้นฐานชุมชนที่สำคัญ และยิ่งเป็นพื้นที่ปัญหากระบวนการจัดการเรียนรู้ยิ่งมีความจำเป็นในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลุกสำนึกรักบ้านเกิดและเพื่อหาแนวทางการจัดการความขัดแย้งด้วยความรัก ความรู้ ความเข้าใจอย่างสันติร่วมกัน

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง