ทัศนะ "เจ้าหญิง-เจ้าชายไอที" ต่อการเพิ่ม "ปุ่มแสดงความรู้สึก" บนเฟซบุ๊ก

Logo Thai PBS
ทัศนะ "เจ้าหญิง-เจ้าชายไอที" ต่อการเพิ่ม "ปุ่มแสดงความรู้สึก" บนเฟซบุ๊ก

"มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก" ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเปิดเผยในเวที ถาม-ตอบ ที่สำนักงานใหญ่เฟซบุ๊กในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเมื่อวานนี้ (16 ก.ย.2558) ว่าเขากำลังจะสร้างปุ่มแสดงอารมณ์เพิ่มเติมบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้ใช้ได้แสดงความรู้สึกนอกเหนือไปจาก "ไลค์" หรือ "ถูกใจ" ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมาร์คเรียกลูกเล่นใหม่นี้รวมๆ ว่าปุ่ม "ไม่ถูกใจ" (Dislike button) หลังจากมาร์คเปิดเผยแผนดังกล่าว แถมยังบอกอีกด้วยว่าปุ่มแสดงอารมณ์ใหม่นี้ใกล้จะนำมาทดลองใช้เต็มที ผู้คนในโลกออนไลน์ต่างแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งคนที่ "ถูกใจ" และ "ไม่ถูกใจ" ไอเดียนี้

สำหรับเมืองไทยที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 30 ล้านบัญชีผู้ใช้ (ข้อมูลเมื่อต้นปี 2558) และกรุงเทพฯ เคยติดอันดับเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก แน่นอนว่าข่าวนี้ย่อมสร้างความตื่นเต้นไม่น้อย "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สำรวจทัศนะของบุคคลในวงการไอที รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ว่าเขาและเธอคิดอย่างไรกับปุ่มแสดงอารมณ์ที่จะเพิ่มขึ้นมาบนเฟซบุ๊ก

Dislike อาจกลายเป็นปัญหาสทางสุขภาพจิตของผู้คลั่ง Like

มณฑานี ตันติสุข นักพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงินชื่อดัง ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีเฟซบุ๊กกำลังพัฒนาปุ่มแสดงอารมณ์ว่า เจตนาเดิมของเฟซบุ๊กคือการสร้างสังคมคิดบวก ดังนั้น การมีปุ่ม Dislike เพื่อให้ล้อกับคำว่า Like ซึ่งเป็นเครื่องหมายทางการค้าของเฟซบุ๊กไปแล้วนั้น เฟซบุ๊กน่าจะต้องคิดให้ถี่ถ้วน เนื่องจากคำว่า Dislike ให้ความหมายเฉพาะเจาะจงแบบ "ฉันไม่ชอบเธอ" ขณะที่บรรยากาศในเฟซบุ๊กมีไม่น้อยที่คนไลล่าความนิยมผ่านการกดไลค์ บางคนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มีตัวตนในโลกออนไลน์จากการกดไลค์ ฉะนั้น การมีปุ่ม Dislike จึงอาจทำให้เฟซบุ๊กโกลาหลได้ จากอาการวิตกกังวลของผู้ใช้ และอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มผู้คลั่งไลค์

"จริง ๆ ปุ่ม Dislike ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในยูทูปมีมานาน แต่บรรยากาศการกด Dislike ในยูทูปจะเป็นในลักษณะกวนๆ ตลกๆ แต่ถ้านำเอามาใช้กับเฟซบุ๊กไม่น่าจะได้ ส่วนตัวอยากให้ใช้คำว่า Disagree ซึ่งหมายถึงไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับกับโพสต์ที่รุนแรง เพราะสังคมประชาธิปไตยควรเปิดกว้างกับการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือจะใช้คำว่า Empathy ที่ให้ความหมายว่าเห็นใจ จะทำให้บรรยากาศดีขึ้นกว่ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเรื่องที่เฟซบุ๊กต้องกลับไปทำการบ้านอย่างหนักว่าจะใช้คำอะไร ที่สามารถเชื่อมโยงกับคำว่า Like โดยไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของเฟซบุ๊กเสียหาย เพราะถ้าเสียไปแล้วการกู้คืนทำได้ยาก" มณฑานี กล่าว

ปุ่มแสดงความรู้สึกใหม่ กลยุทธ์ทางการตลาดของเฟซบุ๊กที่น่าจับตามอง
ขณะที่ ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ พิธีกร-ผู้ประกาศข่าวไอที ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น "เจ้าหญิง" แห่งวงการไอทีกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าปุ่ม Dislike ให้ความรู้สึกในทางลบ และอาจสร้างความไม่พอใจต่อกันได้มากขึ้น เรื่องดีอาจกลายเป็นไม่เพียงแค่กด Dislike

ฉัตรปวีณ์กล่าวเพิ่มว่า เท่าที่ฟังเจตนาในการสร้างปุ่มใหม่ขึ้นมาคือ ทางเฟซบุ๊กต้องการให้คนมีทางเลือกในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเห็นโพสต์คนป่วยแล้วเห็นใจเข้าไปกดไลค์ก็ดูแล้วแปลกๆ ฉะนั้นการมีปุ่มเพิ่มเพื่อแสดงความเห็นอย่าง Sympathy หรือเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องดีกว่า แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับเจตนาการนำไปใช้ เพราะแม้ว่าจะเป็นปุ่ม Sympathy แต่ถ้าเป็นโพสต์ที่ดี แต่มีคนไปกดปุ่มเห็นใจก็ดูแปลกได้เช่นกัน

"เฟซบุ๊กเป็นบริษัทและเชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่โซเชียล ฉะนั้น การเขาคิดผลิตปุ่มแสดงความรู้สึกใหม่ขึ้นมา แสดงว่าเขาคิดดีและถี่ถ้วนแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้พูดคุยหน้าเฟซบุ๊กระหว่างเพื่อนเท่านั้น แต่ควรจับตามองไปถึงการตลาดที่ทางเฟซบุ๊กจะนำปุ่มใหม่ไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วย นอกจากนี้ ไม่ว่าเฟซบุ๊กจะสร้างปุ่มอะไรขึ้นมาใหม่ อยากให้คนนำไปใช้ด้วยเจตนาดี อย่างน้อยก็เป็นต้นแบบให้คนเล่นโซเชียลรุ่นหลังรู้ว่า ควรเล่นโซเชียลให้ดีเป็นคุณทำอย่างไร" ฉัตรปวีณ์แสดงทัศนะเพิ่ม

ปุ่ม Dislike กับสังคมตรงไปตรงมา
ด้าน พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค ผู้ได้ฉายาว่า "เจ้าชายไอที" กล่าวว่า การที่เฟซบุ๊คจะมีปุ่ม Dislike ไม่ใช่เรื่องแย่ แต่จะทำให้ความหมายของปุ่ม Like ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาปุ่ม Like ให้ความหมายว่าอ่านแล้วแค่นั้น อีกทั้งการมีปุ่ม Dislike ยังเป็นเหมือนการสำรวจความนิยมอย่างง่าย คล้าย ๆ กับยูทูป ซึ่งเหมาะกับการตลาดที่ต้องการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในโลกออนไลน์

"ในอนาคตถ้าเฟซบุ๊กจะพัฒนาให้มีปุ่ม Dislike ขึ้นมาคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะเราจะได้เห็นสังคมและสังคมออนไลน์ที่เป็นจริงมากขึ้น สังเกตได้ว่าก่อนหน้าที่จะมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราจะไม่กล้าวิพากษ์ต่อสิ่งรอบตัว มีแต่หามุมชม แต่เมื่อโซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้น ก็ทำให้คนกล้าที่จะพูดความจริงกันมากขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าหากมีปุ่ม Dislike จะทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้น แต่เราอาจได้เห็นอะไรที่ตรงไปตรงมามากขึ้น" พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทคระบุ

พงศ์สุขกล่าวด้วยว่า แต่หากปุ่มที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือปุ่ม Empathy หรือปุ่ม Sympathy ก็คือเป็นเรื่องดีเรื่องน่ารัก ที่จะได้แสดงความรู้สึก ติดตามรับรู้ความเป็นไป และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อสถานการณ์ของเพื่อนในโลกเสมือน เพราะในชีวิตจริงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเจอเพื่อนกว่า 5,000 คน ได้ตลอดเวลาเหมือนอย่างในเฟซบุ๊ก


สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง