"ศศิน เฉลิมลาภ" ประธานมูลนิธิสืบฯ คนใหม่ : ก้าวต่อไปของมูลนิธิฯ และเอ็นจีโอในยุคคสช.

20 ก.ย. 58
10:36
1,685
Logo Thai PBS
"ศศิน เฉลิมลาภ" ประธานมูลนิธิสืบฯ คนใหม่ : ก้าวต่อไปของมูลนิธิฯ และเอ็นจีโอในยุคคสช.

ก่อนหน้าการเดินทางไกล 388 กม.เพื่อคัดค้านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของเขื่อนแม่วงก์เมื่อกันยายน 2556 และการนั่งประท้วงคัดค้านการพิจารณา EHIA แบบท้าทายคำสั่ง คสช.เมื่อพฤศจิกายน 2557 คนที่อยู่นอกวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจไม่คุ้นชื่อ "ศศิน เฉลิมลาภ" มากนัก แต่การเคลื่อนไหวค้านเขื่อนแม่วงก์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำให้แทบไม่มีใครรู้จักเขา วันนี้ศศินก้าวขึ้นมาเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร--องค์กรอนุรักษ์ที่เก่าแก่และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศไทย "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สนทนากับเขาในโอกาสที่รับตำแหน่งใหม่นี้ ว่าด้วยเรื่องของบทบาทมูลนิธิสืบฯ และการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในยุครัฐบาล คสช.

18 ก.ย.2558 เป็นวันที่ศศินรับตำแหน่งประธานมูลนิธสืบฯ อย่างเป็นทางการ โดยเป็นประธานต่อจากอาจารย์รตยา จันทรเทียร ซึ่งหมดวาระลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2558 ภายหลังจากที่อาจารย์รตยาในวัย 84 ปี ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบฯ มานานกว่า 23 ปี

ศศินบอกว่าการขึ้นมาเป็นประธานมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งมายาวนานเป็นเรื่องที่หนักใจและน่าตื่นเต้นไปพร้อมกัน "เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ"

ในฐานะประธานมูลนิธิสืบฯ คนใหม่ มองก้าวต่อไปขององค์กรนี้อย่างไร
เราจะพัฒนามูลนิธิสืบฯ ให้เป็นองค์กรหลักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนกลาง เนื่องจากปัจจุบันนี้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในกรุงเทพฯ ลดบทบาทลงไปหมด จากที่เคยมีเพื่อนร่วมกันทำงานเยอะๆ ตอนนี้เหลืออยู่เพียงไม่กี่องค์กร  นอกจากมูลนิธิสืบฯ แล้วก็ดูเหมือนจะมีมูลนิธิโลกสีเขียวอีกองค์กรหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งต่างจากในต่างจังหวัดที่องค์กรชุมชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนยังมีความเข้มแข็งกันอยู่ นอกจากนี้ ผมคิดว่างานที่เราน่าจะทำมากคือการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่

ปกติเราจะประชุมทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีในช่วงปลายปี ยุทธศาสตร์หลักของเราคือการทำให้มูลนิธิสืบฯ เป็น "องค์กรสื่อสารอนุรักษ์" คือ เน้นการสื่อสารประเด็นการอนุรักษ์ต่อสังคม โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ และผ่านการจัดกิจกรรมรำลึกถึงคุณสืบนาคะเสถียรหรือการทำสื่อต่างๆ เพื่อทำให้ "สืบ นาคะเสถียร" เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ในประเทศไทย

ความท้าทายของการเป็นประธานมูลนิธิสืบฯ
มูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับมานาน โดยมีอาจารย์รตยา จันทรเทียรเป็นประธานมูลนิธิฯ มา 20 กว่าปี เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ ความท้าทายขององค์กรที่ก่อตั้งมานานๆ ก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ เราต้องหากลยุทธ์ หารูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ ที่ไปให้ถึงคนวงกว้างซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่

ในชีวิตผม ผมแค่อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ตรงใจ ตั้งแต่เริ่มทำงานกับมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้จัดการโครงการจอมป่า มาเป็นรองเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ 4 ปี และเป็นเลขาธิการ 8 ปี การเป็นประธานไม่ได้อยู่ในแผนเลย ไม่ได้อยากเป็น แต่เมื่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ความไว้วางใจผมก็ทำ ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นนาน  ถ้ามีคนอื่นมาทำต่อได้หลังจากหมดวาระ (วาระ 4 ปี) หลังจากนั้นผมก็อยากจะไปเป็นนักวิชาการอิสระและทำงานเขียน

ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มูลนิธิฯ จะขับเคลื่อนต่อไป
เราตั้งเป้าหมายให้การจัดการผืนป่าตะวันตกเป็นโมเดลของการจัดการป่าในประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดการใน 2 ประเด็น คือ
1.โมเดลการจัดการเชิงระบบนิเวศ : ป่าตะวันตกมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพและมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง เราจะต้องขยายโมเดลนี้ให้เกิดขึ้นทั้งป่าตะวันตกให้ได้ เมื่อเราทำได้สำเร็จแล้วเรา เราอาจจะเสนอป่าตะวันตกทั้งผืนเป็นมรดกโลก หรือถ้าเสนอทั้งผืนป่าไม่ได้ก็อาจจะเสนอเพียงอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลานและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นมรดกโลก
2.โมเดลการจัดการความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่ในป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ : ป่าตะวันตกเป็นต้นแบบที่น่าจะดีที่สุดในการทำงานร่วมกัน และเป็นการจัดการที่อ้างอิงข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง เราจึงพยายามผลักดันให้ภาครัฐนำนโยบายนี้ไปใช้แทนการไปไล่จับหรือไปตัดต้นไม้ของชาวบ้าน ชาวบ้านกับรัฐจะได้อยู่กันอย่างสันติสุขและหันหน้ามาแก้ไขปัญหาป่าอนุรักษ์ร่วมกัน ไม่ใช่ขัดแย้งกัน
3.โมเดลการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ป่าตะวันตก ซึ่งหากทำได้สำเร็จผืนป่าตะวันตกจะเพิ่มพื้นที่จากประมาณ 12 ล้านไร่ เป็น 20 ล้านไร่ จะเป็นการจัดการผืนป่าที่ใหญ่มากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งวันนี้เรามีเครือข่ายป่าชุมชนรอบป่าตะวันตกอยู่ประมาณ 120 แห่ง

ปัจจุบันมูลนิธิสืบฯ ได้เงินสนับสนุนจากไหนบ้าง
มีทั้งจากสาธารณชนและการขอสนับสนุนโครงการจากแหล่งทุน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ ปตท. เงินสนับสนุนที่ได้จากองค์กรเอกชนจะนำไปทำงานในพื้นที่ เหมือนเป็นการถ่ายเทเงินทุนจากเอกชนไปทำโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ประเด็นเรื่องการรับเงินจากภาคเอกชนที่อาจมีคนตั้งคำถามนั้น เราอธิบายได้ว่าเราเมื่อเขาต้องการจะสนับสนุนโครงการของเรา เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องรับ ปตท.เองก็ทำธุรกิจของเขาในส่วนของคนที่ทำงานเพื่อสังคมเขาก็มีนโยบายมาแบบนี้ เราต้องเปิดโอกาสให้เขามาทำงานร่วมกับเรา และเราก็จำเป็นจะต้องรับด้วย เพราะถ้าไม่รับจากปตท. ลองหาที่อื่นๆ ดูก็ไม่มี ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องปิดโครงการไปเลย เพราะปตท.ก็เป็นผู้สนับสนุนใหญ่ของเรามา 5 ปีแล้ว ที่ผ่านมา ปตท.เองก็ไม่ได้เอาชื่อเราไปโฆษณามากเกินไป ถือว่าค่อนข้างให้เกียรติกันอยู่ เป็นพันธมิตรกัน แต่เราไม่เคยบอกเขาว่าถ้าเขามีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเราจะไม่ทักท้วง แม้แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการออกเงินกู้ให้โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เราก็มีข้อเสนอแนะไปว่าโครงการที่เขาให้เงินกู้จะมีผลกระทบยังไง เราอยู่ด้วยความสัมพันธ์กันแบบนี้

อะไรทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมล้มหายตายจากไป
ส่วนใหญ่เป็นเพราะการขาดเงินทุน ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีกระแสที่ภาคเอกชนหันมาสนับสนุนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นจุดใหญ่ที่ทำให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ และค่อยๆ ล้มหายตายจากไป โชคดีที่มูลนิธิสืบฯ ยังอยู่ได้เพราะอาจารย์รตยาประคับประคองมาจนผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ ด้วยการประหยัดและหาแหล่งทุนมาสนับสนุนได้

วิกฤตการณ์ทางการเมืองเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อขบวนการสิ่งแวดล้อม เราเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2547 (รัฐประหาร 19 ก.ย.2547) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงประเด็นอื่นนอกจากเรื่องการเมือง  ดังนั้นโอกาสที่ขบวนความคิดอื่นๆ จะเติบโตแทบไม่มี ถ้ามองภาพใหญ่แล้ว มันอาจจะไม่ใช่เรื่องการถดถอยของขบวนการสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเพราะถูกกระแสอื่นมากลบ

             

<"">

รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดกันในหมู่คนทำงานเอ็นจีโอหรือไม่ ระหว่างฝ่ายที่เอาและไม่เอารัฐประหาร
ในแวดวงเอ็นจีโอมีการแตกแยกกันหรือไม่ผมไม่รู้ แต่ผมไม่ได้แตกแยกกับใคร แต่คนที่พยายามจะแตกแยกกับผมไม่ใช่เอ็นจีโอ เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาสนใจการเมือง เป็นรุ่นเด็กๆ ที่อยากจะหาเป้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นธรรมดา แต่สำหรับเพื่อนในวงการเอ็นจีโอ หรือแม้แต่นักวิชาการสายเสื้อแดง แทบจะไม่เคยสักครั้งที่จะทะเลาะกัน ยังเป็นเพื่อนกันทุกคน แม้แต่สายที่เรียกว่า "สลิ่ม" ก็เป็นพันธมิตรที่ดีกันตลอด ผมยังคบหากับทุกฝ่าย ส่วนเอ็นจีโอที่ไปทำงานกับ คสช. เช่น การรับตำแหน่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มันก็เป็นเรื่องของเขา ตราบใดที่เขายังทำงานในเจตนารมณ์เดิม มันไม่ใช่เรื่องของการเอาหรือไม่เอารัฐประหาร ประเด็นคือ เขายังทำงานด้านการอนุรักษ์ ทำงานด้านสิทธิชุมชนอยู่หรือเปล่า ถ้าเขาเพียงแต่ใช้ช่องทางของ สปช.ทำงานตามเจตนารมณ์ของเขา ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องไปว่า

สถานการณ์การเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร กระทบการทำงานของขบวนการสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนหรือไม่
กระทบอยู่บ้างในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะในการทักท้วงหรือคัดค้านโครงการของรัฐจำเป็นจะต้องแสดงออกมา ขณะที่ คสช.กำลังเน้นเรื่องของการปรองดอง บังคับให้ปรองดอง ห้ามแสดงออกทางการเมือง แต่การทำงานอนุรักษ์มักจะไปขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลอยู่แล้วก็ถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปด้วย นี่เป็นอุปสรรค แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคใหญ่เสียทีเดียว เพราะวิธีที่จะแสดงออกก็ยังมีอีกหลายทาง และถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น การสร้างเขื่อนแม่วงก์  คสช.ก็มาห้ามผมแสดงออกไม่ได้ คุณก็มาจับผมไปเท่านั้นเอง

หลังรัฐประหารผมก็พูดและแสดงความเห็นเหมือนเดิมทุกประการ มันก็ยากตรงการคิดกิจกรรมที่จะแสดงออก ซึ่งผมก็เคยทำมาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 (การนั่งประท้วงการพิจารณา EHIA ที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม) ผมเคยลองให้ดูแล้วว่าผมไม่ได้ทำผิดกฎอัยการศึกด้วยซ้ำ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่สิทธิของเรายังไงก็ต้องแสดงออกบนหลักการที่ว่าจะต้องอนุรักษ์ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนี่สำคัญกว่า และผมก็เชื่อมั่นว่าสังคมไทยมาไกลเกินกว่าที่จะย้อนไปหารัฐธรรมนูญก่อนปี 2540 แล้ว ผมอาจจะไม่ได้สนใจในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มันถอยหลังหรือแย่กว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่เราเคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้ามันน้อยกว่านั้นผมจะออกมาเคลื่อนไหว รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นขั้นต่ำที่สุด ถ้ามันกลับไปแย่กว่านั้นก็คงต้องมีเรื่องกัน แต่ถ้ายังอยู่ในหลักการนี้ แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ยังไง ผมก็ยังรับได้ให้นักวิชาการที่อยู่ในกระบวนการ่างฯ ดูแลไป

กุลธิดา สามะพุทธิ ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สัมภาษณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง