สหภาพฯ ทีโอที จี้ รมว.ไอซีที ทวง "เอไอเอส" 7.2 หมื่นล้าน หลังศาล ปค.ชี้แก้สัมปทานปี 44 ไม่ชอบด้วย ก.ม.

สังคม
22 ก.ย. 58
08:45
163
Logo Thai PBS
สหภาพฯ ทีโอที จี้ รมว.ไอซีที ทวง "เอไอเอส" 7.2 หมื่นล้าน หลังศาล ปค.ชี้แก้สัมปทานปี 44 ไม่ชอบด้วย ก.ม.

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที เดินขบวนค้านประมูล 4 จี คลื่น 900 พร้อมจี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีทวงเอไอเอส 72,000 ล้าน หลังศาลปกครองชี้การแก้สัมปทานปี 44 ไม่ชอบด้วย ก.ม.

เวลา 11.30 น. วันนี้ (22 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่สำนักใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที จำกัด มหาชน และพนักงานจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันที่อาคาร 1 ตึกทีโอที และเดินเท้าไปที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ใน 2 ประเด็น ได้แก่ การขอให้ดำเนินการทวงเงินรายได้คืน จากบริษัทเอไอเอส จำนวน 72,000 ล้านบาท หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าการปรับแก้สัญญาระหว่างบริษัท ทีโอที และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เครือข่ายเอไอเอสไม่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งการปรับแก้สัญญาเกิดขึ้นสมัยนายทักษิณ ชินวัตร  เป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544  มีการปรับแก้สัญญาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระบบบัตรเติมเงินที่เอไอเอสต้องจ่ายให้ทีโอที โดยป้ายผ้าในการเดินขบวนได้เขียนข้อความมีเนื้่อหาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ให้ดำเนินการเรียกร้องผลประโยชน์ที่รัฐสูญไป

ตัวแทนสหภาพทีโอทีระบุว่าตามสัญญากำหนดให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามอายุสัมปทานให้รัฐ (ทีโอที) ระหว่างปี 2543-2548 ต้องจ่าย 25% ของมูลค่าหน้าบัตร  ปี 2549-2553 ต้องเพิ่มการจ่ายเป็น 30%  แล ปี 2553-2558 ต้องจ่าย 35% แต่การปรับแก้สัญญาวันที่ 15 พ.ย.2544 สมัยนายทักษิณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับแก้สัญญาที่ส่งผลทำให้บริษัทเอไอเอสได้สิทธิ์ปรับลดส่งส่วนแบ่งรายได้เหลือ 20% ของมูลค่าหน้าบัตรไปตลอดอายุสัมปทาน และส่งผลทำให้ทีโอทีสูญเสียรายได้  32,335 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้มีการปรับแก้สัญญาเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย (โรมมิ่ง) ปรับลดอัตราค่าใช้โครงข่ายร่วม ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่เอไอเอส และมีผลทำให้เครือข่ายทีโอทีเสียประโยชน์เป็นเงินกว่า 18,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันสหภาพฯ ทีโอที ยังคัดค้านสำนักงาน กสทช.ที่นำคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ ไปจัดประมูล 4 จี ปลายปีนี้ด้วย เนื่องจากเห็นว่าทีโอทียังมีสิทธิ์ถือครองคลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช.ยืนยันว่าคลื่นทีโอทีจะหมดสัมปทานสิ้นเดือนกันยายนนี้ จึงมีสิทธิ์นำไปประมูลตามที่กฎหมายให้อำนาจ กสทช. ขณะที่ทีโอทีระบุว่ามีสิทธิ์ถือครองคลื่นไปจนถึงปี 2568


ข่าวที่เกี่ยวข้อง