จับตาการประเมินมาตรฐานปลอดภัยไอเคโอ้ กรมการบินพลเรือนแก้ปัญหา“ผ่าน-ไม่ผ่าน”

24 ก.ย. 58
06:49
241
Logo Thai PBS
จับตาการประเมินมาตรฐานปลอดภัยไอเคโอ้ กรมการบินพลเรือนแก้ปัญหา“ผ่าน-ไม่ผ่าน”

หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศขึ้นธงแดงประเทศไทย ผ่านเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา หลังแผนแก้ไขข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ หรือ เอสเอสซี ของไทย ยังไม่ผ่านการรับรองจากไอเคโอ้ นอกจากนี้ธงแดงที่ไอเคโอ้ประกาศให้ไทยไม่ผ่านการรับรอง

ก่อนหน้านี้ พลเอกประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ระบุว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ้ จะตรวจสอบไทย มีหัวข้อ 1,016 ข้อ ในการตรวจ และไทยจะต้องแก้ปัญหานี้ถึง 850 ข้อ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มงาน ได้แก่ การออกกฎหมาย (Legislation) โครงสร้างองค์กร (Organization) การออกใบอนุญาต (Licensing) การดำเนินการ (Operations) ด้านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบิน (Airworthiness) การสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident Navigation) การให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service) และสนามบินขนาดเล็ก (Aerohrone)

แต่หัวข้อใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินการ เป็นเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย หรือ เอสเอสซี เช่น การขนส่งสินค้าอันตราย (Dangerous Goods: D.G.) การออกใบรับรองผู้ดำเนินการทางอากาศ (Air Operator Certificate: AOC) โดยหัวข้อนี้ไทยสอบตกถึง 33 ข้อ (http://www.icao.int/safety/Pages/USOAP-Results.aspx)

แต่การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการออกใบรับรองผู้ดำเนินการทางอากาศ เพราะไทยยังไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทำหน้าที่ตรวจสอบได้ อีกทั้งคู่มือปฏิบัติด้านการบิน (Flight Operation Manual) ก็ไม่ได้มาตรฐานของไอเคโอ้ ทำให้ไทยต้องจัดทำคู่มือปฏิบัติด้านการบินใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดทำถึง 2 ปี

หากการแก้ปัญหาต้องใช้เวลานานขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย กระทรวงคมนาคมจึงใช้ทางลัด ด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกมาตรวจสอบ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสายการบินต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมการบินพลเรือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมจากไอเคโอ้ก่อน จึงจะตรวจสอบได้ เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วจึงจะสามารถการออกใบรับรองผู้ดำเนินการทางอากาศให้ใหม่

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบินพลเรือน โดยให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการเดินอากาศปี 2497 และพ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศ ยาน กระทรวงคมนาคม

การออกพระราชกำหนดหรือพ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อผลักดันให้การแก้ไขกฎหมายได้รวดเร็ว เนื่องจากหากใช้กระบวนการตามกฎหมายอาจต้องใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 3 เดือน รวมถึงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของ ไอเคโอ้ด้วย

ขณะที่ความคืบหน้าของแผนแก้ไขข้อบกพร่องของไอเคโอ้ นางปาริชาติ คชรัตน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า กระบวนการการรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย ขณะนี้กรมการบินพลเรือนได้จัดทำคู่มือและออกกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้าอันตราย (DG Expert) จาก Transport Canada ประเทศแคนาดา มาจัดการฝึกอบรมในหลักสูตร Dangerous Goods Inspector ทั้งภาคทฤษฎีและ On the Job Training (OJT) ให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้กรมการบินพลเรือน มีความพร้อมในการตรวจสอบ เพื่อรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยเริ่มดำเนินการตรวจสอบกับสายการบินที่ยื่นคำขอรับรองการขนส่งสินค้าอันตรายแล้ว

ในเรื่องของกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ AOC กรมการบินพลเรือนได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ในหลักสูตรต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบเพื่อพิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ตามประกาศบพ. เรื่อง การรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Air Operator Certificate Re-Certification) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสายการบินที่ยื่นคำร้องขอรับการตรวจสอบตามประกาศกรม ดังกล่าวแล้ว 26 สายการบิน ซึ่งผู้ถือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ที่ยังมีผลบังคับใช้ทุกราย ต้องยื่นคำขอรับการตรวจสอบภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2558

อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูต่อไปว่าในวันที่ไอเคโอ้ประเมินข้อบกพร่องการบินของไทยอีกครั้งเร็วๆ นี้ เราจะสามารถแก้ไขเพื่อให้ผ่านเกณฑ์หรือข้อท้วงติงต่างๆ ได้หรือไม่

วิภูษา สุขมาก
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง