“รถตู้-ผู้โดยสาร” รับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว รายรับรายจ่าย-วิถีการเดินทางต้องเปลี่ยนไป

26 ก.ย. 58
13:32
407
Logo Thai PBS
“รถตู้-ผู้โดยสาร” รับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว รายรับรายจ่าย-วิถีการเดินทางต้องเปลี่ยนไป

การปิดสะพานข้ามแยกเกษตรเพื่อเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท โดยได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2556 และจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2558- 2562 รวมระยะเวลา 3 ปี

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว นับเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางจากปริมณฑลและกรุงเทพฯ ชั้นนอกเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ตรงเวลา และสะดวกรวดเร็ว หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ที่ผ่านมาการเดินทางบนถนนพหลโยธิน เส้นทางดังกล่าว นอกเหนือจากรถส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสารถือเป็นพาหนะอันดับต้นๆ ที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด ซึ่งอนาคตของรถตู้เหล่านี้ ที่เคยเป็นหนึ่งในทางเลือกยอดฮิตของประชาชน จะต้องได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงของการก่อสร้าง และภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็น ผู้ให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ และผู้ใช้บริการรถตู้ ถึงผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายศราวุธ ปัญญา โชเฟอร์รถตู้โดยสารเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ลำลูกกา เปิดเผยว่า คาดว่าผู้โดยสารจะลดลงครึ่งหนึ่ง หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการ ส่วนในระหว่างการก่อสร้างที่จะมีปัญหาการจราจรติดขัด ผู้โดยสารก็อาจจะเลือกเดินทางเส้นทางอื่น เช่นรถสายที่ขึ้นทางด่วน ซึ่งไม่ว่าจะทางใดรายได้ของผู้ประกอบการรถตู้ก็ลดลงอย่างแน่นอน การเดินรถอาจเหลือวันละไม่เกิน 4 เที่ยว เพราะรถตู้ในคิวมีจำนวนมากกว่า 30 คัน ประกอบกับการจราจรติดขัด ซึ่งต้องหาทางแก้ปัญหา ทั้งวิ่งทางลัด หรือหากขอให้ขสมก.ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ก็ไม่แน่ใจว่าได้ปรับขึ้นราคาได้หรือไม่ที่จะไม่กระทบกับผู้โดยสาร

สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาคือ การเปลี่ยนสายวิ่ง ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจากรถตู้สายอื่นก็มีคนขับเป็นจำนวนมาก หากรายได้ลดลงมากจริงๆ อาจจำเป็นต้องกลับไปหางานทำที่บ้านเกิดที่เชียงใหม่

“ถ้าผมเป็นผู้โดยสาร หากมีการเดินทางที่สะดวกอย่างรถไฟฟ้า ผู้โดยสารก็ต้องเลือกทางนั้น ผู้โดยสารรถตู้ก็จะลดลง ไม่แน่ใจอาจเปลี่ยนสายวิ่งแต่ก็ยาก เพราะคนขับสายเดิมก็มีเยอะ ก็ต้องดูกันต่อไปหากไม่มีทางจริงๆ
ก็คงต้องกลับหางานทำที่บ้านเกิดที่เชียงใหม่ เพราะรายได้หายไปกว่าครึ่ง”

สอดคล้องกับโชเฟอร์รถตู้สายอนุสาวรีย์-ลำลูกกา วัย 50 ปี อีกรายหนึ่ง ระบุว่า ในช่วงของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถจะติดเพิ่มมากขึ้น คาดว่าเที่ยวรถที่วิ่งได้ก็จะลดลง จากเดิมวันละ 4-5 เที่ยว อาจเหลือวันละ 1-2 เที่ยว เพราะจำนวนรถตู้ก็มีมาก และเส้นทางลัดที่เตรียมไว้ก็อาจจะเป็นปัญหา เนื่องจากทางลัดที่เลยจากจุดที่ผู้โดยสารต้องการลง ผู้โดยสารก็จะไม่สะดวก และเส้นทางลัดที่คาดว่าจะสะดวก แต่การเข้าซอยลัดก็จะเข้าสู่เส้นทางหลักยากมากขึ้น เพราะรถในทางหลักไม่ยอมให้ทาง

การแก้ปัญหาที่ดีก็คือ การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจหรือทหาร ให้มาประจำตลอดเส้นทางแนวก่อสร้าง 16 กิโลเมตร เพื่อควบคุมดูแลการจราจร เนื่องจากผิวจราจรที่ลดลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยระบายรถได้เร็วขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะเป็นการสัญจรหลัก และหากเป็นไปได้หน่วยงานราชการ อาจจำเป็นต้องให้รถวิ่งผ่านด้วย เช่น ในค่ายทหารที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อช่วยระบายรถในกรณีที่การจราจรหนาแน่น

ขณะที่โชเฟอร์รถตู้เส้นทางมาบุญครอง-รังสิต อีกราย ระบุว่า การวิ่งรถปกติหากรถไม่ติด จากตั้นทางถึงปลายทางจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่หากรถติดอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งรอบการวิ่งจะลดลงแน่นอน เพราะช่วงที่ผู้โดยสารมากคือในช่วงเช้าหรือหลังเลิกงาน รถจะมาก แต่ก็จะต้องเผชิญกับรถติดด้วย ดังนั้นจึงเลือกขับในช่วงกลางวันที่ผู้โดยสารยังพอมี และคนขับรถที่เป็นเจ้าของรถจะนิยมพักผ่อน และก็ไม่มีความเสี่ยงว่า การวิ่งรอบนั้นจะคุ้มกับค่าแก๊สหรือไม่

ผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร ยังแจกแจงค่าใช้จ่ายการในการประกอบอาชีพด้วยว่า ต้นทุนในการขับรถตู้ค่อนข้างสูง หากเป็นรถมือหนึ่งราคาซื้อด้วยเงินสดจะอยู่ที่ราว 1,200,000 บาท ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์จะไม่ค่อยให้ซื้อราคาเงินสด แต่จะให้ผ่อนเวลา 5-6 ปี ค่างวดราว 23,000 – 24,000 บาท หากขาดส่งติดต่อกัน 4 งวด จะยึดรถทันที รวมถึงค่าป้ายเหลืองอีก 100,000 – 200,000 บาท ที่ต้องจ่ายด้วยเงินสดอย่างเดียว หรือต้นทุนในการเริ่มประกอบอาชีพจะอยู่ที่ เกือบ 2,000,000 บาท บวกค่าประกันชั้น 35,000 บาท ค่าแก๊สอีกวันละ 500 - 600 บาท หากเป็นรถเช่าค่ารถจะอยู่ที่วันละ 1,300 บาท ซึ่งวันที่รถติดวิ่งรอบได้น้อยหากได้ 1,300 บาทก็ได้เพียงค่าเช่าค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็ไม่พอ

“รถตู้จะได้กำไรก็ต่อเมื่อผู้โดยสารขึ้น-ลงป้ายใกล้ ๆ ซึ่งหากวิ่งทางลัดผู้โดยสารก็จะกระทบลงในจุดที่ไม่ใช่ที่ผู้โดยสารต้องการ ดังนั้นทางลัดก็อาจจะไม่ใช่ทางที่สะดวกสำหรับผู้โดยสาร”

 
ด้านผู้ประกอบการเจ้าของคิวรถตู้เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง รวมถึงภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและการก่อสร้างรถไฟฟ้า ที่แม้ว่าจะไม่กระทบโดยตรง เนื่องจากรถตู้สายของตนวิ่งขึ้นทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่การจราจรที่ติดขัดในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบโดยอ้อม ส่วนหนึ่งก็คือทำรอบการวิ่งได้น้อยลง คนขับก็เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เพราะต้องออกวิ่งรถตั้งแต่เวลา 04.30 น.หากรถติดก็มีเวลากลับบ้านพักผ่อนน้อย

“ตอนนี้ยังโชคดีที่ผ่อนชำระค่างวดหมดแล้ว และรถตู้บางส่วนก็ให้รับงานวิ่งเหมา ก็ถือว่ายังพอมีทางออก หากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า อยากให้เจ้าหน้าที่ดูแลกฎจราจรยืดหยุ่นบ้าง”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ แก้วละเอียด นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้โดยสารรถตู้ กล่าวว่า ที่พักอยู่บริเวณสะพานใหม่ และใช้บริการรถตู้โดยสารเป็นประจำทุกวัน ในการเดินทางไปมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วซึ่งก็ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงทุกวัน และหากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็คาดว่ารถจะติดเพิ่มขึ้น เบื้องต้นแก้ปัญหาด้วยการตื่นเช้าขึ้น เพื่อเดินทางไปรวดเร็วขึ้นหรืออาจต้องย้ายที่พักให้ใกล้กับมหาวิทยาลัย หากต้องเสียเวลาไป-กลับนานกว่า 3 - 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่นานเกินไป

“ถ้านั่งรถเมล์ก็จะช้า นั่งรถตู้เร็วที่สุด มาต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ค่าใช้จ่ายไป-กลับก็เกือบ 100 บาท แต่ถ้ารถติดก็ต้องเผื่อเวลา แต่จะนั่งรถมอเตอร์ไซค์วินทุกวัน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มอีก ขับรถเองรถก็ติด เพราะปกติเส้นพหลโยธินรถติดอยู่แล้ว อาจต้องดูก่อนว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจต้องย้ายที่พัก เพราะถ้าอยู่ที่เดิมแบบนี้จะเสียเวลาในการเดินทางมากเกินไป”

3 ปีจากนี้ไป พาหนะเช่นรถตู้ ที่นับว่าสะดวกรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไปสำหรับคนเมืองหลวง อาจจะไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อนเสียแล้ว โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งถนนหลายสายในกรุงเทพฯกำลังประสบอยู่ และวันนี้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน เนื่องเพราะถนนสายนี้เป็นเส้นทางหลักนำผู้คนจากแหล่งที่พักอาศัยนอกเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น

 

เฉลิมพล แป้นจันทร์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

<"">

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง