ปชช. รุดพบสภาอุตฯขอแรงต้านเหมืองทอง หวั่นสารโลหะหนักกระทบส่งออกมะม่วง-นมวัว

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ย. 58
11:06
123
Logo Thai PBS
ปชช. รุดพบสภาอุตฯขอแรงต้านเหมืองทอง หวั่นสารโลหะหนักกระทบส่งออกมะม่วง-นมวัว

ภาคประชาชนรอบเหมืองทองพิจิตรพบประธานสภาอุตฯ ขอแรงต้านนโยบายพัฒนาเหมืองทอง หวั่นส่งผลกระทบแหล่งปลูกมะม่วงพันธุ์ดี ที่ส่งขายทำรายได้เข้าประเทศปีละ 1,200 ล้านบาท ขณะที่นมดิบสร้างมูลค่ามากถึง 1,537 ล้านบาท

วันนี้ (29 ก.ย.2558) เวลา 13.00 น. ภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ร่วมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และ ผู้ประกอบการในนาม สมาคมส่งออกมะม่วงไทย สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ร่วมกันยื่นหนังสือ ต่อประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอให้ภาคธุรกิจร่วมคัดค้านนโยบายทองคำและสัมปทานทองคำ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านอาหารของประเทศไทย จะกระทบในด้านการผลิต และการใช้พื้นที่ในการทำเหมือง อันเนื่องมาจากนโยบายขยายพื้นที่สำรวจแหล่งแร่ และทำเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด รวมกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งหากมีการอนุมัติสัมปทาน พื้นที่การเกษตรจะเสียหาย และมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในการใช้สารไซยาไนด์ กว่า 1 ล้านตันที่ต้องใช้ในการสกัดทอง ซึ่งจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์เสียหาย โดยพื้นที่จ.สระบุรี เป็นพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแหล่งผลิตน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจำนวนมากอยู่ใน อ.มวกเหล็ก ที่สามารถผลิตน้ำนมดิบต่อมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยค่าภาคหลวงที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่ามหาศาล ตัวอย่างจากสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด แห่งเดียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเฉลี่ย 1,537 ล้านบาทต่อปี โดยมีสมาชิกจำนวน 913 ราย จำนวนโคนมทั้งหมด 20,722 ตัว อันเป็นอาชีพที่ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองไม่ต้องใช้แรงงานในถิ่นอื่นอีกทั้งในพื้นที่ยังมีการปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อยเป็นหลัก หากมีการใช้พื้นที่ไปทำเหมืองแร่ทองคำ จะเกิดการเสียพื้นที่ทางการเกษตรและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน จะทำลายอาชีพนี้ไปอย่างถาวร

ส่วนพื้นที่ จ.ลพบุรี มีอาชีพปลูกอ้อย พืชผลทางการเกษตร ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นหลัก และ ยังมีพื้นที่เลี้ยงโคนมด้วยจำนวนมากเช่นกันพื้นที่จ.พิษณุโลก มีการปลูกข้าวหอมมะลิจำนวนมาก และรวมถึงผลไม้อื่นๆโดยเฉพาะมะม่วง

ซึ่งหากนโยบายเหมืองแร่เดินหน้าได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การปลูกมะม่วง การปลูกมะม่วง ใน อ.เนินมะปราง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น ยุโรป และกลุ่มประเทศเออีซี มะม่วง
ภาพรวม จะกระทบสวนมะม่วงประมาณ 2.2 แสนไร่ ในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซนต์ เป็นการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย มีมูลค่าเฉลี่ย 1,200 ล้านบาท โดยผลิตป้อนบริษัทต่างชาติ เพื่อนำมะม่วงไปแปรรูปอีกกว่า 40 บริษัท ทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งปลูกพืชเพื่อการบริโภคและส่งออก ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับจ.จันทบุรี ระยอง พิจิตร เพชรบูรณ์ และเกษตรกรรมจังหวัดอื่นๆ อันเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของประชาชนตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน ต่างจากการทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะเหมืองแร่ทองคำที่ทำได้เพียง 10-20 ปี เมื่อสินแร่หมดงานก็หมด พร้อมทั้งมีกองกากแร่ที่เหลือจากการถลุงแร่ทองคำ กองเท่าภูเขาขนาดใหญ่ ที่อุดมไปด้วยสารที่เป็นอันตรายเช่น ไซยาไนด์ที่ใช้ในขบวนการถลุงแร่ทองคำเป็นต้น แลกกับการสูญเสียอาชีพเกษตรกร พื้นที่เกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตร ความเชื่อถือจากต่างประเทศต่อผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด หากมีการพบการปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรของไทยเพียงไม่กี่แห่ง

ดังนั้นประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ จึงขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยุติรับรองการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้คงไว้ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ทีมีรายได้กว่าหลายพันล้านบาท ให้เป็นพื้นที่อาชีพเกษตรที่ยั่งยืน ปราศจากการปนเปื้อน ไม่มีสารพิษ ไม่มีบ่อกากแร่ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางการผลิตอาหาร เพื่อความมั่นคงทางการเกษตรกรรม เพื่อความมั่งคั่งของราษฎรและแผ่นดินอย่างยั่งยืนโดยมีข้อมูลอ้างอิงที่นำส่งมาด้วยนี้ เพื่อขอให้สภาอุตสาหกรรมร่วมกับภาคประชาชนขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านและร่วมปกป้องอาชีพทางการเกษตรที่เป็นสิ่งสำคัญของอาชีพคนไทย และเป็นแหล่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อประชาชนคนไทยมีรายได้ มีอาชีพอย่างเท่าเทียม และมีอิสรภาพในการดำเนินอาชีพของตน ตามวิถีเกษตรกรไทย และการทำเหมืองแร่ทองคำจะกระทบต่ออาชีพ กระทบต่อวิถีชีวิต กระทบต่อระบบนิเวศ กระทบต่อการส่งออก พืชผลทางการเกษตรทุกชนิดอย่างร้ายแรง และประเทศอาจเสียการส่งออกพืชผลและอาหารอย่างถาวรหากมีการปนเปื้อนเกิดขึ้นจึงเรียนมายังท่านเพื่อร่วมกับภาคประชาชน แสดงจุดยืนคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่มิใช้ประโยชน์ของคนไทยให้ถึงที่สุด

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง