“อนุพงษ์”สั่งจับตางบ 5 ล.ไม่ซ้ำโครงการเก่า หลายจว.วุ่นเน้น“ซื้อ-สร้าง”ผิดวัตถุประสงค์

สังคม
1 ต.ค. 58
02:09
127
Logo Thai PBS
 “อนุพงษ์”สั่งจับตางบ 5 ล.ไม่ซ้ำโครงการเก่า หลายจว.วุ่นเน้น“ซื้อ-สร้าง”ผิดวัตถุประสงค์

รัฐบาลเปิดให้ตำบลเสนอโครงการเพื่อนำงบฯ 5 ล้านบาท ไปใช้ในการส่งเสริมความเป็นอยู่ ซึ่งรมว.มหาดไทย ยืนยันว่า มีการตรวจสอบอย่างรัดกุมและโปร่งใส ไม่ให้โครงการเกิดความซ้ำซ้อนกับที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่หลายจังหวัดเร่งตรวจสอบโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท หลังพบว่า มีหลายโครงการที่ที่เสนอมา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรืออาจใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์

วานนี้ (30 ก.ย.2558) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ว่า ที่ประชุมยืนยันในหลักการเดิมคือตำบลละ 5 ล้านบาท แต่ต้องพิจารณาว่า โครงการที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้เกิดความซ้ำซ้อนหรือไม่ หากไม่เกิดความซ้ำซ้อน จะได้รับเงินเต็มจำนวนวงเงินเดิม ส่วนระยะเวลาอนุมัติโครงการจะสามารถเลื่อนออกไปได้ประมาณ 15 วัน

ขณะที่มาตรการป้องกันการทุจริตในโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนแรก หรือ ที่เรียกว่า ขาขึ้น คือการเสนอโครงการตามความต้องการของพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านตามกลไกขึ้นมายังอำเภอจังหวัด แล้วส่งมาให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสม

ส่วนการปฏิบัติหรือ ขาลง ได้มอบหมายให้หน่วยเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาร่วมตรวจสอบ โดยในวันศุกร์ที่ 3 ต.ค.นี้ ทางสำนักงบประมาณจะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังต่างจังหวัด รวมถึงจะให้คณะกรรมการหมู่บ้านเข้ามาร่วมประชุมด้วย เพื่อให้การดำเนินงานมีความรัดกุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายจังหวัดเร่งตรวจสอบโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท หลังพบว่า มีหลายโครงการที่ที่เสนอมา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรืออาจใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์

ผู้นำท้องถิ่นตำบลบึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เข้าหารือ เจ้าหน้าที่สหกรณ์เกษตรบึงพิมพา อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ กรณีงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ถูกแบ่งไปใช้ในโครงการอื่น นอกเหนือจากโครงการที่ชาวบ้านเสนอผ่านการทำประชาคม ก่อนจะได้รับการชี้แจงว่า เป็นโครงการของสหกรณ์เกษตรบึงพิมพา

ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบึงพิมพาเปิดเผยว่า เคยของบประมาณของโครงการลดต้นทุนการผลิต จำนวน 1 ล้าน 5 แสนบาทจากรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ทราบว่า จะได้รับเงินจำนวน 1,800,000 บาท แต่อยู่ในงบประมาณ ตำบลละ 5 ล้านบาท จึงขอปฏิเสธรับงบประมาณนี้ เนื่องจากเห็นว่า อาจเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และควรคืนให้ชุมชน เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ที่จ.เชียงราย ภายหลังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย รวมตัวสอบถามข้อเท็จจริงจากจังหวัด กรณีงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาท ถูกนำไปก่อสร้างลานตากผลผลิต ทั้งที่ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้จังหวัดต้องทำประชาคมใหม่อีกครั้ง

นายอินเป๊ก อบอุ่น กำนันตำบลท่าก๊อ กล่าวว่า ผลการจัดทำประชาคมใหม่ทั้ง 27 หมู่บ้าน ได้ข้อสรุปว่า17 หมู่บ้าน จะทำโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีต เพื่อใช้สัญจร และขนส่งผลผลิตทางการเกษตร 4 หมู่บ้าน จะทำโครงการประปาภูเขา ส่วนที่เหลือ จะทำโครงการซ่อมสร้างอาคาร หรือ ศาลาอเนกประสงค์ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากร และ พื้นที่การปกครองเนื่องจากการเหมาจ่ายตำบลละ 5 ล้าน อาจไม่เป็นธรรมกับตำบล ซึ่งมีหลายหมู่บ้านในพื้นที่

ส่วนที่จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมการบูรณาการกลั่นกรองโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตำบลละ 5 ล้านบาท เร่งตรวจสอบเอกสารโครงการที่แต่ละท้องถิ่นจาก 22 อำเภอ เสนอของบประมาณ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ ในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีหลายโครงการที่ถูกตัดออก และให้นำไปปรับแก้กว่า 2,000 โครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น โครงการจัดซื้อสิ่งของครุภัณฑ์สำนักงาน โครงการก่อสร้างถนนบางเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับโครงการพัฒนาท้องถิ่นเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้คณะทำงานได้ขอให้วิศวกรจากเทศบาลเมืองศรีสะเกษ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมตรวจสอบโครงการ เพื่อดูความเหมาะสมของงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง

เช่นเดียวกับที่จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่หน้าที่ฝ่ายกองช่าง สำนักงานชลประทานจังหวัด เข้าตรวจสอบเอกสารโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกลั่นกรองโครงการฯ

หลังพบว่าโครงการส่วนใหญ่จาก 189 ตำบล 23 อำเภอ เป็นการเสนอขุดลอกลำน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ กล่าวว่า ทุกโครงการต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

และที่จ.อุดรธานีเจ้าหน้าที่จากอำเภอต่างๆ ที่มีโครงการและยังไม่ผ่านความเห็นชอบ เข้ารับฟังแนวทางการแก้ไขโครงการจากคณะกรรมการบูรณาการกลั่นกรองฯ โดยเน้นให้ปรับแก้โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อ ถ้วยชาม เต้นท์ และเครื่องเสียง สำหรับใช้ในชุมชน ซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง