สัมภาษณ์ "วิชา มหาคุณ" : คดีเหมืองทองคำประเดิมกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.

สิ่งแวดล้อม
5 ต.ค. 58
11:57
2,182
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์ "วิชา มหาคุณ" : คดีเหมืองทองคำประเดิมกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.

วันนี้ (5 ต.ค.2558) นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กรณี ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการให้ใบประทานบัตรและการทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การไต่สวนคดีเหมืองแร่ทองคำมีที่มาที่ไปอย่างไร

มีกลุ่มชาวบ้านมาร้องเรียน ป.ป.ช.เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ที่ใช้ในกระบวนการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีพบว่ามีการปนเปื้อนในนาข้าวและสภาพแวดล้อม จนหลายคนมีอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตแล้ว 28 คน โดย ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบและดูเส้นทางแร่ทองคำขออาชญาบัตรสำรวจ 7 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร (กว่า 100,000 ไร่) พิษณุโลก (กว่า 10,000 ไร่) เพชรบูรณ์ (กว่า 400,000 ไร่) ลพบุรี (กว่า 100,000 ไร่) สระบุรี (กว่า 60,000 ไร่) จันทบุรี (24,000 ไร่) และระยอง (กว่า 7,000 ไร่) รวมแล้วมีพื้นที่คาบเกี่ยวเส้นทางแร่ทองคำอยู่เกือบ 1 ล้านไร่ มีทั้งแร่ทองและแร่เงิน แต่คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ทำเหมืองแร่ที่ จ.พิจิตร ซึ่งได้ตั้งบริษัทลูกไว้แล้วเพื่อขออาชญาบัตร
 
ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีทองคำที่ถูกขุดที่ จ.พิจิตร นับตั้งแต่ปี 2545 รวมแล้วกว่า 1.3 ล้านออนซ์ แร่เงิน 5 ล้านออนซ์ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามีการนำเข้าสารไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารพิษรุนแรงอันดับต้นๆ เพื่อใช้ถลุงแร่ทองคำและแร่เงินเฉลี่ยกว่า 6.6 ตันต่อวัน ลองคิดดูว่าจะต้องอนุมัติให้นำเข้าปริมาณเท่าไหร่  ต้องขอบคุณกลุ่มที่ร้องเรียนเข้ามา รวมทั้งมีข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนผลการตรวจสอบต่างๆ ในพื้นที่ด้วย

การส่งหลักฐานจากออสเตรเลียที่พบความผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร


ตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรียเลียได้มีข้อตกลงกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของไทยเกี่ยวกับการตรวจสอบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่ามีอะไรผิดปกติในด้านการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งทางออสเตรเลียพบว่ามีบริษัทที่จดทะเบียนในออสเตรเลียน่าจะมีการโอนเงินเข้ามาที่บริษัทลูกที่อยู่ในเมืองไทย มีการก่อตั้งบริษัทที่เมืองไทยเพื่อทำเหมืองแร่และมีการโอนเงินจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าผิดปกติเข้ามา อาจเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำโดยกระบวนการที่ไม่ชอบ และอาจมีการให้สินบน ทางออสเตรเลียจึงขอให้ที่เมืองไทยช่วยตรวจสอบ โดยทางกลต.ได้ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงกันว่า หากเป็นเรื่องทุจริตแล้ว ป.ป.ช.ขอให้ช่วยส่งเรื่องมาให้

เอกสารที่ทางออสเตรเลียส่งมาเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร เปิดเผยได้หรือไม่ และกระบวนการไต่ส่วนจะเป็นอย่างไร
เอกสารที่ได้มาเป็นภาษาอังกฤษ มีการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อหลายเดือนก่อน แล้วจึงเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. ประกอบกับมีประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียนการขุดเหมืองแร่ที่อาจจะออกใบอนุญาตโดยมิชอบซึ่งป.ป.ช.เห็นว่าเป็นประเด็นคล้ายกัน ที่ประชุมป.ป.ช.จึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะจะได้เก็บข้อมูลได้เป็นทางการ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ ต้องมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญและอัยการฝ่ายต่างประเทศ การไต่ส่วนจะเกี่ยวกับกระบวนการระหว่างประเทศ ประกอบกับการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 3 จะทำให้ป.ป.ช.ทำงานคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากให้อำนาจป.ป.ช.เป็นศูนย์กลางการไต่สวนคดีระหว่างประเทศได้ด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการให้สินบนนั้น ป.ป.ช.มองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนด้วย

 
จำเป็นต้องเชิญทางออสเตรเลียมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกหรือไม่


ป.ป.ช.อาจต้องเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของออสเตรเลียเอง ซึ่งเคยได้พูดคุยกันไว้ก่อนหน้านี้

 
จำนวนเงินที่ ป.ป.ช. ระบุว่าพบความผิดปกติในการโอนจากออสเตรเลียมาไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและทางการออสเตรเลียบอกหรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่หรือคนไทยเกี่ยวข้องกี่คน


เงินที่ตรวจสอบพบนั้นเป็นเงินสกุลของออสเตรเลียจำนวนที่สูง ซึ่งการจะให้เงินสินบนระหว่างประเทศ การโอนเงินให้แบบผิดปกติคงจะไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ เพราะไม่เช่นนั้นทางการออสเตรเลียคงไม่เห็นความผิดปกติ ซึ่งเป็นการโอนเข้ามาเป็นเวลาต่อเนื่อง ไม่ใช่แบบการให้ก้อนเดียวแล้วจบไป

ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีจำนวนหลายสิบคน แต่ในชั้นนี้ยังไม่ขอบอกว่ามีใครบ้าง แต่อยากให้ไปย้อนดูว่าตั้งแต่ปี 2546 ที่เริ่มมีการทำแผนงานอนุมัตินั้น มีระดับไหนเกี่ยวข้องบ้าง มันเกี่ยวพันกันหลายส่วนตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่จนถึงผู้บริหารระดับสูง

ทางออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตขุดแร่ ทำเหมืองหรือธุรกิจเหมืองทองคำ


เขาพูดชัดว่าเหมืองแร่ใดที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน ช่วยอธิบายถึงกระบวนการว่าเป็นอย่างไรและจะเริ่มต้นเมื่อใด


จะต้องเริ่มต้นสอบจากผู้ร้องเรียนและข้อมูลที่ได้ดำเนินการมาแล้วว่าส่วนไหนเป็นข้อมูลที่สำคัญ และพิจารณาว่าจะต้องเชิญใครมาสอบหรือชี้แจงอีกบ้าง จะต้องหารือร่วมกันในคณะอนุกรรมการไต่สวนทั้งคณะ และต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โดยมีคุณสุภา (สุภา ปิยะจิตติ) กรรมการอีกท่านหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชี รวมถึงผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยและอัยการมาร่วมกันเก็บข้อมูล

ประเด็นที่ ป.ป.ช.จะตรวจสอบคือ การออกอาชญาบัตรหรือให้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เรื่องการให้สินบนจะเป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง และตามกฎหมายใหม่ของป.ป.ช.นั้น บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนจะต้องมีความผิดไปด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนจะต้องรับผิดอย่างไรบ้าง และกระบวนการต่อไปนี้ถือเป็นอำนาจเต็มของปป.ป.ช. ซึ่งคดีเหมืองแร่ทองคำนี้จะถือเป็นการประเดิมกฎหมายใหม่ของป.ป.ช. และถือเป็นคดีที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุดในคดีหนึ่ง

ในส่วนของประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดและมีข้อมูลอยู่มากพอสมควรซึ่งต้องสอบสวนให้ชัดเจน แม้ว่าประเด็นเรื่องสุขภาพจะไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. เพราะการแก้ปัญหาสุขภาพจะมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ป.ป.ช.ก็ต้องดูว่าหน่วยงานเหล่านั้นได้แก้ปัญหาหรือดำเนินการอย่างใดหรือไม่ ถ้าไม่ทำก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ความยากในการทำคดีนี้อยู่ตรงไหน


ผู้ที่เกี่ยวข้องล้วนมีอำนาจอยู่ในมือ และมีการอนุมัติเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลประโยชน์มหาศาล

 
ดูจากเอกสารข้อมูลต่างๆ แล้ว คิดว่าจะต้องใช้เวลาในการไต่สวนนานแค่ไหน


คดีนี้ไม่น่าจะช้า อยู่ที่การคลี่คลายบัญชีทางการเงิน เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากและต้องหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่

จำเป็นต้องมีมติระงับแผนพัฒนาเหมืองแร่พื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในการสอบสวนของป.ป.ช.หรือไม่


เรื่องนี้ต้องขอหารือคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ก่อนว่าจำเป็นต้องมีมติเช่นนั้นหรือไม่

ระหว่างที่ป.ป.ช.กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ มีอะไรจะฝากถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ผมอยากให้ตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติของเรามีความสำคัญมาก เหตุที่ป.ป.ช.รีบดำเนินการ ไม่ใช่เพราะทางออสเตรเลียเขาตื่นตัว แต่เพราะคนไทยร้องเรียนมา รวมทั้งกลุ่มภาคประชาชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ ที่ได้ตรวจสอบข้อมูลมาให้ และทำให้ป.ป.ช.มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้เร็วมากขึ้น

ทรัพยากรเป็นของประเทศไทย แต่ถามว่าคนไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง มิหนำซ้ำยังมีคนตาย-คนเจ็บป่วย ผมเองก็ไม่คิดว่าจะได้มาทำคดีทองเหมืองในยุคนี้ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าทองคำเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ เมืองไทยมีชื่อเรียกว่า "สุวรรณภูมิ" เพราะเรามีแหล่งแร่ทองคำที่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องการพัฒนาประเทศนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแล หากจะขุดแร่ขึ้นมาใช้ต้องแน่ใจว่า เหมืองเหล่านั้นไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำเหมือง ไม่ใช่การระเบิดแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การนำสารพิษมาใช้มันไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม แล้วต้องคำนึงด้วยว่า ชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์อย่างไรบ้าง
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง