"บวรศักดิ์" แจงนายกฯ คนนอก ปลด 3 ล็อก

การเมือง
22 เม.ย. 58
15:31
132
Logo Thai PBS
"บวรศักดิ์" แจงนายกฯ คนนอก ปลด 3 ล็อก

บวรศักด์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีที่ไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ถือเป็นการเปิดทางแก้วิกฤตการเมือง การป้องกันการยึดอำนาจรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคต

เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. วันนี้ (22 เม.ย.2558) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขอใช้สิทธิ์ในการอภิปรายชี้แจงขอเสนอแนะและคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในภาคที่ 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง นายบวรศักด์ อุวรรณโณประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงข้อบัญญัติในมาตรา 172 กรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดทางให้มีผู้บริหารประเทศในยามเกิดวิกฤตทางการเมือง เพื่อป้องกันการยึดอำนาจรัฐประหารและป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยอยู่บนรากฐานของปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2535,2550 และวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557

"คำถามเรื่องการจะเลือกนายกฯ คนนอก ไม่ต้องถาม กมธ.ยกร่างฯ ให้ไปถามหัวหน้าพรรคการเมือง และ ส.ส.ในสภา และที่ไม่เขียนว่าวิกฤตเพราะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจะเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตการตีความ ถ้าไม่เขียนเช่นนี้จะทำให้เกิดจุดเสี่ยง เช่น กรณีการใช้มาตรา 7 ในอดีต หรืออาจจะถึงขั้นยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยืนยันนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.อยู่แล้ว เพราะสมาชิก ส.ส.จะต้องเลือกหัวหน้าพรรคของตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี" นายบวรศักดิ์ ระบุ

ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงเกี่ยวกับระบบพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองว่าเจตนาที่จัดให้มีกลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้เพื่อเปิดพื้นที่ให้บุคคลที่มีความตั้งใจ แต่ไม่มีโอกาสเข้าพรรคการเมือง แต่ยืนยันว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ของคำว่ากลุ่มการเมืองให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะจำนวนสมาชิกและสาขาของกลุ่มการเมือง ตลอดไปจนการกำหนดหลักการเรื่องกฎกติกา การประชุม การรับริจาค ก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนดขึ้นอีกครั้ง พร้อมย้ำว่าได้ตัดเงื่อนไขของความเป็นสมาคมออกไปแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ส่วน นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงองค์กรตรวจสอบที่มีมากขึ้น และยืนยันว่าจะไม่เป็นปัญหาให้รัฐบาลทำงานยากขึ้น พร้อมย้ำในเจตนาที่จะทำให้ฝ่ายการเมือง มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศและเป็นไปตามหลักสากล ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้นำประเทศมีความสง่างามมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจในการบริหาร แต่จะต้องมีความน่าเชื่อถือและภาวะความเป็นผู้นำจากสังคม

สำหรับการอภิปรายเสนอแนะและขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช.วันนี้ คาดการณ์จะปิดการประชุมในเวลา 21.00 น. และจะเปิดประชุมเพื่ออภิปรายอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เวลา 13.00 น. โดยช่วงเช้านั้น สปช. จะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้ห้องประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมณ์และพวก รวม 3 คน จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง