"พาณิชย์" ระบุใช้ ม.44 ระบายข้าวในสต็อกเร็วขึ้น

เศรษฐกิจ
1 พ.ย. 58
14:08
231
Logo Thai PBS
"พาณิชย์" ระบุใช้ ม.44 ระบายข้าวในสต็อกเร็วขึ้น

หลัง คสช.ใช้มาตรา 44 คุ้มครองผู้ปฎิบัติหน้าที่ในโครงการบริหารจัดการข้าวคงเหลือของรัฐในโครงรับจำนำข้าว รมว.พาณิชย์ระบุว่าการประกาศใช้ มาตรา 44 ของ คสช.จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น

วันนี้ (1 พ.ย.2558) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2558 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ ซึ่งได้ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายข้าว เนื่องจากการระบายอาจมีความเสี่ยงในหลายด้านและมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวหลายคดี ขณะที่สต็อกข้าวที่จะระบายจะมีราคาที่แตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมากเพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ ทำให้ผู้ปฎิบัติงานไม่กล้าตัดสินใจในการดำเนินการและหาผู้ปฎิบัติงานได้ยาก ประกาศดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้ปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ คสช.เข้ามาดูแลการบริหารจัดการ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินคดีของผู้กระทำผิด

"เราจะต้องระบายออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระ ถ้าเก็บไว้นานก็จะกดราคาข้าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งระบายออก อย่างไรก็ตามในการทำงานแม้ว่าจะมีมาตรา 44 ออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าวและเป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถอ้างว่ามีมาตรา 44 มาคุ้มครองแล้วทำอะไรก็ได้" นางอภิรดี ระบุ

นางอภิรดีเปิดเผยอีกว่าการใช้มาตรา 44 ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล เพราะเป็นการดูแลในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน คณะทำงานระบายข้าว

ขณะที่นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยอมรับว่ามาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งข้าวดีและข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลช่วยปลดล็อคมาตรการต่างๆได้พอสมควร เช่น การรับมอบข้าวของรัฐที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งการใช้มาตรา 44 จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่ามาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาระบายข้าวในสต็อกระยะสั้น รัฐบาลเองต้องทำงานอย่างโปร่งใส ส่วนระยะยาวเสนอให้ออกกฎหมายการทำบัญชีเพื่อแสดงรายละเอียดการทำงานของภาครัฐ

ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ถึงปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวไปแล้วปริมาณรวมทั้งสิ้น 6,380,000 ตัน มูลค่ารวม 75,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการระบายข้าวในสต็อกของรัฐปริมาณ 4,830,000 ตัน และการระบายข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ในตลาดปริมาณ 1,550,000 ตัน โดยสต็อกข้าวคงเหลือในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตัน มีค่าดูแลรักษาข้าวในสต็อกเดือนละกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้แนวคิดการให้รัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษคุ้มครองผู้ปฎิบัติหน้าที่ในโครงการบริหารจัดการข้าวคงเหลือของรัฐในโครงรับจำนำข้าว เป็นข้อเสนอของนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้รัฐบาลออกกฎหมาย ระเบียบขั้นตอน การใช้งบประมาณแทรกแซงโครงการต่างๆ ของรัฐเพื่อเป็นเกราะกำบังให้ข้าราชการที่อาจต้องทำงานตามคำสั่งจากฝ่ายการเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง