วิเคราะห์ กรธ.วางกรอบโครงสร้างฝ่ายบริหาร จับตาประเด็นร้อน"ที่มานายกฯ"

การเมือง
2 พ.ย. 58
04:54
170
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ กรธ.วางกรอบโครงสร้างฝ่ายบริหาร จับตาประเด็นร้อน"ที่มานายกฯ"

วันนี้ (2 พ.ย.2558) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เตรียมพิจารณากรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องของโครงสร้างฝ่ายบริหาร ซึ่ง ประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุด คือที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่จะยังคงตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกหรือไม่ โดยเฉพาะกับข้อสังเกตว่า "ระบบเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม" ที่กรธ.กำหนดขึ้นมาใหม่นั้น ผลลัพธ์จะได้มาซึ่งรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง อาจไม่สอดรับกับการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนใน

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา "ระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม" มีหลายประเด็นที่ตกอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และดูเหมือน 2 พรรคการเมืองใหญ่ จะออกมาแสดงทัศนะในลักษณะเห็นต่าง โดยเฉพาะกับข้อสังเกตว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและบิดเบือนเจตนาของประชาชน เป็นเหตุให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องออกมาแจกแจงเรื่องด้วยตัวเอง

ทั้งนี้กรอบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งตามกรอบนี้ กรธ.ให้มี 2 ระบบ คือระบบแบ่งเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีโมเดลมาจากฝรั่งเศส และไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญในอดีต หรือต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่เรียกว่า "แบบสัดส่วนผสม" มากนัก หากแต่ที่ต่างคือการคิดคำนวณคะแนนที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ จากแนวคิดหลักที่จะตอบโจทย์การเมืองไทยโดยเฉพาะ

ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือวิธีการเลือกตั้ง ที่ให้ผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดในแต่ละเขต ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ระบบเขต ส่วนผู้ที่ได้คะแนนลำดับ 2 และลำดับถัดไป ให้นำคะแนนทั้งหมดมารวมกัน และคิดคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ส่วนรายละเอียดนั้นยังไม่ได้สรุปออกมาชัดเจนแต่หลังมีกรอบออกมา ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย และเมื่อสรุปคำชี้แจงของประธาน กรธ. จะเห็นภาพรวมของจุดเด่นในระบบนี้ 7 ข้อด้วยกัน ดังนี้ ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีคุณค่า, ยึดโยงทั้งคนและพรรค เพราะพรรคต้องเลือกคนลงสมัคร ในขณะเดียวคนที่มีคุณภาพก็ต้องส่งเสริมให้พรรคเข้มแข็ง นี่คือที่มาของการขจัดข้อครหาว่า ระบบดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ นอกจากนี้ระบบนี้ยังแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในประเด็นของฐานเสียงในแต่ละภาค รวมถึงคะแนนเสียงในระบบดังกล่าวคะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกต้องนำมารวมกันก่อนคิดคำนวณเป็นเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค จึงไม่สามารถแบ่งฝ่ายกันได้

นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องลงพื้นที่หาเสียงจึงใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น  ซึ่งนี่เป็นแนวทางการไขปัญหาในพื้นที่ดังที่มีการกล่าวขานกันว่า "หากเป็นพื้นที่นี้ พรรคนี้ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ" รวมถึงยังแก้ไขปัญหาการไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ประชาชนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิมักที่จะคิดว่า ในพื้นที่ของตนเป็นพื้นเป็นพื้นที่ของผู้สมัครตัวเต็งโอกาสที่ผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบจะแพ้จึงไม่ออกไปใช้สิทธิ แต่ว่าในระบบนี้แม้จะประเมินได้ว่าผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบจะแพ้เลือกตั้งในระบบเขต แต่คะแนนของผู้แพ้ ยังสามารถเพิ่มที่นั่งให้กับพรรคที่ชอบได้ ที่สำคัญ การคิดคำนวณคะแนนในระบบนี้จะไม่ยุ่งยาก และเป็นไปตามบริบทของการเมืองไทย ตามที่ประธาน กรธ.ได้เคยย้ำไว้

สัปดาหที่แล้ว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวย้ำในเจตนาที่ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นจะยังเป็นชนวนสำคัญให้ตัดสิทธิ์นักการเมืองตลอดชีวิต แต่การแพ้คะแนนเลือกตั้งโนโหวต หรือช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่แนวทางที่จะตัดสิทธิ์กันตลอดชีวิต และระบุว่า เรื่องนี้น่าจะมีการเข้าใจผิดกันเกิดขึ้น

ประธาน กรธ.ยังระบุว่า กรอบความคิดเรื่องโนโหวต หรือการกากบาทช่องประสงค์ไม่ลงคะแนนนั้น กรธ. มีความเห็น 2 ทางด้วยกัน คือ 1.เห็นควรว่าต้องหยุดลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จะหยุดแค่เลือกตั้งซ่อมหรือจะหยุดการเลือกตั้งไปอีก 1 สมัย นี่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่แน่นอนว่าจะต้องหยุดเพราะสัญญาณนั้น คือการไม่ยอมรับเกิดขึ้นแล้วส่วนเจตนาที่ว่า หากเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องวางกลไกการตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปตลอดชีวิตแม้ยังไม่ถึงเวลาที่จะสรุปกรอบเรื่องนี้ออกมา แต่เบื้องต้นยืนยันว่า หลักการแนวคิดยังคงเป็นเช่นนี้อยู่หากแต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ถึงจะสรุปออกให้ชัดเจน

ในห้วงเวลาของ กรธ.ที่ทำงานมาแล้ว 1 เดือน สำหรับการเดินหน้าวางกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ และในสัปดาห์นี้ กรธ.จะเริ่มประชุมและหารือถึงกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยโครงสร้างของฝ่ายบริหารซึ่งจับตาถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น หรือจะเปิดทางไว้สำหรับคนนอกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง