ผู้ค้าสะพานใหม่โอดรถไฟฟ้าให้ข้อมูลน้อย เพิ่มจุดกลับรถ-ทางลัดวัชรพล-กวดขันรถตู้

3 พ.ย. 58
01:07
456
Logo Thai PBS
ผู้ค้าสะพานใหม่โอดรถไฟฟ้าให้ข้อมูลน้อย เพิ่มจุดกลับรถ-ทางลัดวัชรพล-กวดขันรถตู้

ความเจริญที่หลายคนเฝ้ารอด้วยการเดินทางรูปแบบใหม่อย่างรถไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเริ่มรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ เพื่อเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลำลูกกา - คูคต ที่จะเชื่อมกับสายเดิมคือ หมอชิตเข้าสู่กรุงเทพฯ การก่อสร้างโครงการดังกล่าวผ่านมาเดือนเศษ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ สภาพการจราจรบนถ.พหลโยธิน ทั้งขาเข้าและขาออก ในช่วงลาดพร้าวจนถึงดอนเมือง ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ไปใช้ถ.วิภาวดีรังสิต แทน ทำให้ย่านตลาดสะพานใหม่ ตลาดยิ่งเจริญ ที่เคยเป็นย่านค้าขายที่คึกคัก และนับว่าเก่าแก่ บนนถ.พหลโยธิน ได้รับผลกระทบไม่น้อย

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กับบรรดาผู้ประกอบการย่านตลาดสะพานใหม่หลายแห่ง พบว่า สาเหตุที่ยอดขายลดลง 30-40 เปอร์เซนต์ เนื่องจากการประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านย่านนี้

                            

<"">

ขอเพิ่มจุดกลับรถวางแผนก่อนดำเนินการ
นายวรวุฒิ นันทนลาภอำรุง เจ้าของร้านประสงค์ อลูมิเนียม ทำกรอบรูป อลูมิเนียม และมุ้งลวด ย่านสะพานใหม่ เปิดเผย “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณสะพานใหม่ ทั้งจากการปิดกั้นพื้นที่เพื่อรื้อตอม่อและก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้พื้นที่จราจรลดลง ประกอบกับรถตู้โดยสารสาธารณะมักจอดแช่บริเวณป้ายรถโดยสาร ยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น และปัญหาสำคัญคือ การประชาสัมพันธ์การก่อสร้างของผู้รับเหมาที่ค่อนข้างน้อย ทำให้การวางแผนในการเดินทางค่อนข้างลำบาก ทั้งในการขนถ่ายสินค้า หรือการเดินทางมายังร้านของลูกค้า ซึ่งหากมีการชี้แจงที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการ ปิด-เปิดถนนช่วงไหน หรือเปิดเดินรถช่วงใดบ้าง จะช่วยให้ร้านค้าต่างๆ วางแผนได้ดีขึ้น

“ร้านของผมยังถือว่าได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากมีลานจอดรถของมูลนิธิโพธิภาวนาสงเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับร้าน ที่ยังคงใช้เป็นพื้นที่ในการขนส่งวัสดุและสินค้าของร้านได้ ด้วยเหตุนี้การจราจรที่ติดขัดนี้ ทำให้ได้รับผลกระทบลดลงร้อยละ 30 เนื่องจากรถไฟฟ้าลูกค้าเดินทางไปซื้อสินค้าในย่านอื่นแทน เช่น ย่านลำลูกกา ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท หรือไปซื้อในย่านรามอินทรา เนื่องจากตลาดยิ่งเจริญมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด” นายวรวุฒิกล่าว

นอกจากนี้นายวรวุฒิยังระบุอีกว่า ต้องการให้โครงการหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพิ่มจุดกลับรถบริเวณตลาดสะพานใหม่อีก 1 จุด เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงจุดเดียว ทำให้ขาเข้ากรุงเทพฯ ที่จะกลับมาฝั่งขาออก ต้องไปกลับรถไกลถึงวงเวียนบางเขน ซึ่งใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง และยิ่งทำให้เพิ่มจำนวนรถในถนนมากขึ้น หรือผู้ที่ต้องการเดินทางมาในช่วงสั้นๆ ก็ต้องมากลับรถไกลถึงสะพานใหม่ ก็ยิ่งทำให้รถติดมากขึ้น ทำให้ลูกค้าไม่นิยมเดินทางมาเนื่องจากเสียเวลาในการเดินทาง

“สำหรับข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีเขียว หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้น คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม อาจได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว 4- 5 โครงการ ตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ขณะที่ค่าเช่า-เซ้ง อาคารพาณิชย์ในย่านนี้อาจขยับราคาขึ้นอีก” นายวรวุฒิกล่าว
                            

<"">

ด้านนายสมบูรณ์ ชัยพรธนรัตน์ เจ้าของร้านอรพิน ร้านเบเกอร์รี่เก่าแก่กว่า 50 ปี ระบุว่า ร้านของตนได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการจราจรโดยเฉพาะที่กลับรถที่ไกลทำให้ลูกค้าที่จะเดินทางมาจากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงพักกลางวัน เพื่อมารับประทานอาหารในย่านนี้ และแวะซื้อขนมของร้านก็ตัดสินใจไม่เดินทางมา เนื่องจากอาจทำให้กลับไปทำงานในช่วงบ่ายไม่ทัน เพราะต้องไปกลับรถไกลถึงวงเวียนบางเขน จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มจุดกลับรถอีกแห่งคือ บริเวณวัดยอด

“ถ้ามองผลกระทบเศรษฐกิจของร้านผม ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น เพราะร้านผมเป็นร้านเก่าแก่ที่คนรู้จัก จึงมีลูกค้าประจำอยู่บ้าง แต่ที่ได้รับผลกระทบมากคือร้านค้าที่ขายสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้า ร้านขายวัสดุก่อสร้าง เพราะต้องจอดรถขนส่งสินค้า แต่ผมคิดว่าถ้ามีรถไฟฟ้าเศรษฐกิจย่านนี้ก็อาจจะดีขึ้น เพราะทำให้คนเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น แต่ตอนนี้อาจจะกระทบบ้าง” นายสมบูรณ์กล่าว

ยอดขายวูบกว่าครึ่ง-บางวันขายไม่ได้

นางเพชรรัตน์ อุตมนันท์ เจ้าของร้านแสงไทย จำหน่ายนาฬิกาและเครื่องใช้ไฟฟ้า บริเวณตลาดสะพานใหม่ เปิดเผยว่า ก่อนการก่อสร้างผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ หรือผู้รับเหมา ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในการก่อสร้างมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจุดที่จะมีการเวนคืน จุดในการสร้างสถานี ไปจนถึงการเวนคืนพื้นที่ที่อาจกินพื้นที่บริเวณหน้าร้านบางส่วนไป ในการก่อสร้างช่วงแรกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้แจ้งว่า จะมีการนัดหารือกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีการประชุมเกิดขึ้น ทำให้ถึงวันนี้ยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ผลกระทบของผู้ค้าในย่านนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ตลาดยิ่งเจริญ มีประชาชนมาซื้อของน้อยลงไปมาก จากเดิมที่จอดรถของตลาดก็มีไม่เพียงพอ แต่ขณะนี้รถหายไปวันละกว่า 2,000 คัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในย่านนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจร และการทำบัตรผ่าน กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.)ให้ผู้ที่ขับรถสามารถอ้อมไปออกเส้นทางถ.วิภาวดีรังสิต ได้ โดยไม่ต้องผ่านย่านตลาดสะพานใหม่ ซึ่งแนวทางนี้ช่วยบรรเทารถติดได้ แต่ก็กระทบการค้า เพราะคนเดินทางไปทางอื่นไม่เข้ามาในย่านตลาดสะพานใหม่นี้

“กังวลว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวสร้างเสร็จแล้ว สภาพการค้าบริเวณสะพานใหม่ จะเหมือนกับย่านสะพานควาย คือการค้าขายก็อาจจะไม่ดีก็ได้ ปัจจุบันปัญหารถติดบางวันนานกว่า 3 ชั่วโมง และแท่งแบริเออร์ที่บังหน้าร้านทำให้ค้าขายลำบากยอดขายลดลงกว่าครึ่ง บางร้านขายของไม่ได้เลย ส่วนหนึ่งมาจากเพราะรถติด และจอดรถไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งค่าเสียโอกาสตรงนี้ ต้องมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมามีเพียงการเลี้ยงข้าวเท่านั้น” นางเพชรรัตน์กล่าว

จากนี้ไปผู้ประกอบการร้านค้า คงต้องเตรียมหาทางออก แต่ก็ยังประเมินไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าผลกระทบจะมีมากขึ้นหรือน้อยลงกว่านี้หรือไม่ โดยขณะนี้รับรู้เพียงว่า รายได้ในแต่ละวันน้อยลงกว่ารายจ่ายมาก และตนก็มีร้านนี้เพียงแห่งเดียวไม่มีร้านอื่น หรือรายได้จากแหล่งอื่น รวมถึงยังมีปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาในไม่ช้า หากมีการก่อสร้างต่อไปทั้งปัญหาเรื่องของเสียง และฝุ่นละอองหรือปัญหาบ้านทรุดหรือเอียง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องชี้แจง เพราะประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ
 
นางเพชรรัตน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยอดขายที่ลดลงอาจมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประกอบกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มาพร้อมกัน แต่ยังไม่แย่นัก เพราะว่าอาคารผ่อนหมดแล้ว ภาระส่วนนี้จึงนับว่ามากนัก เพราะค่าเช่าไม่มี แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่เช่าอยู่ รายได้อาจไม่เพียงพอแน่นอน จึงต้องลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ต้องเฝ้าร้านเองไม่จ้างลูกจ้าง

    

<"">
 
<"">

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านขายเครื่องประดับ และกระเป๋าสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 กล่าวว่า ปกติในช่วงนี้ลูกค้าก็น้อยอยู่แล้ว เมื่อมีการก่อสร้างลูกค้าก็ลดลง ไม่ต้องการเดินทางมาย่านนี้ เพราะกลัวรถติด และเสียเวลาในการเดินทางมาก ซึ่งโดยปกติรถก็ติดอยู่แล้ว เมื่อทำรถไฟฟ้ายิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นไปอีก ทางออกหนึ่งที่ร้านตนต้องปรับตัวก็คือ การขายสินค้าทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก แต่ก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะสินค้าที่ขายมีราคาแพง การซื้อ-ขายจึงมักที่จะมาที่ร้าน เพื่อดูของจริง ก่อนตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อทราบว่าร้านอยู่ในย่านตลาดสะพานใหม่ ลูกค้าก็ต้องวางแผนในการเดินทางใหม่ บางรายก็ไม่มาเพราะใช้เวลาในการเดินทางมากเกินไป แต่เมื่อความเจริญเข้ามา ก็ต้องยอมรับแต่ก็เกรงว่าการก่อสร้างจะล่าช้าเหมือนกัน

นอกจากนี้ ต้องการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ของขสมก.ทำงานควบคู่กับตำรวจในการดูแลการจราจร โดยเฉพาะการจอดรถบริเวณป้ายรถเมล์ เพราะทุกวันนี้รถตู้โดยสารมักจอดจอดแช่ที่ผ้ายเป็นเวลานาน และจำนวนหลายคันทำให้รถติด ซึ่งขณะนี้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนคือเช้าและเย็นเท่านั้น แต่ความจริงควรมีเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด 12 ชั่วโมง จะช่วยให้การระบายรถคล่องตัวมากขึ้น

“ที่จอดรถของลูกค้ากระทบเล็กน้อย เพราะให้ลูกค้าจอดในซอยอยู่แล้ว ที่จอดริมถนนก็ไม่นานนัก เพราะก็ต้องเห็นใจผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จะก่อสร้างพอจะจอดรถริมถนนได้บ้าง แต่ตอนนี้จอดไม่ได้เด็ดขาดเพราะเหลือช่องจราจรน้อยลง แต่หากเปิดเส้นทางตัดใหม่บริเวณห้างบิ๊กซีให้ใช้ได้ ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้อีกมาก เพราะเป็นเส้นทางลัดไปซอยวัชรพล และรามอินทรา รถจะไม่ต้องเดินทางไปถึงวงเวียนบางเขนซึ่งค่อนข้างไกล แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงยังไม่เปิดให้ใช้ ทั้งที่ก่อสร้างเสร็จนานมากแล้ว อย่างน้อยผู้ใช้รถจะเดินทางไปรามอินทราใช้ทางนี้ได้”

ด้านนางนภา วชิราวุฒิชัย ห้างทองเจี่ยเจี้ยเชียง 2000 จำกัด ตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ กล่าวว่า ประชาชนทราบว่า จะมีการก่อสร้างในย่านนี้ผู้ใช้เส้นทางบางส่วน จึงเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ มีประชาชนเดินทางมาย่านนี้น้อยลง ทำให้ร้านค้าต่างๆ รายได้หายไปประมาณ 50 เปอร์เซนต์ จากนี้ไปจึงต้องหาทางออกในการบรรเทาผลกระทบ ซึ่งกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มากนัก ก็อาจได้รับผลกระทบมาก เพราะแม้ตนจะมีร้านอีกแห่งในพื้นที่อื่น แต่ยอดขายที่ลดลงก็กระทบเหมือนกัน

“เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าสภาพเศรษฐกิจย่านนี้จะดีขึ้น เพราะไม่ว่าความเจริญไปถึงไหนการค้าขายก็จะดีขึ้น เนื่องจากบริเวณหน้าร้านจะเป็นสถานีใหญ่หรือจุดขึ้น-ลงรถไฟฟ้า คาดว่าจะมีผู้ประชาชนที่ผ่านหน้าร้านมากขึ้น จะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น” นางนภากล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่า หากมองเรื่องการคมนาคมสัญจรไปมาของประชาชน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่นำพาความเจริญมายังผู้ที่อาศัยในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ให้สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น แต่ทั้งในระยะสั้นการก่อสร้างที่ใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี ก็ย่อมส่งผลไม่น้อยต่อพ่อค้าแม่ขายในพื้นที่ ที่เคยเป็นตลาดค้าขายสำคัญของคนกรุงเทพฯ ย่านถ.พหลโยธิน ซึ่งไม่แน่ใจว่า อนาคตย่านตลาดสะพานใหม่จะคงความคึกคักเหมือนเช่นที่เป็นมากว่า 30 ปีได้หรือไม่

เฉลิมพล แป้นจันทร์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง