2 พรรคใหญ่เมียนมาเร่งหาเสียงโค้งสุดท้าย พบปัญหา-ชื่อไม่ครบ-สวมสิทธิ-ติดสินบน

ต่างประเทศ
3 พ.ย. 58
01:18
109
Logo Thai PBS
2 พรรคใหญ่เมียนมาเร่งหาเสียงโค้งสุดท้าย พบปัญหา-ชื่อไม่ครบ-สวมสิทธิ-ติดสินบน

ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เมียนมาจัดการเลือกตั้งแค่ 3 ครั้ง นี่เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญของพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมากำลังจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นี้

วานนี้ (2 พ.ย.2558) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติ (NLD) นำโดย อองซาน ซูจี ที่ออกหาเสียงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จัดการปราศรัยใหญ่ในย่างกุ้ง ถือเป็นการหาเสียงใหญ่ของนางซูจี ทิ้งท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยมีประชาชนออกมาฟังการปราศรัยอย่างล้นหลาม นับตั้งแต่คณะกรรมการเลือกตั้งเปิดให้พรรคการเมืองทั้ง 93 พรรคหาเสียง เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา บรรยากาศการหาเสียงที่เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มากถึง 6,065 คน เป็นตัวเลข 2 เท่าตัวของผู้สมัครในปี 2553 ที่มีอยู่แค่ 3,069 คน

สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ระหว่างวันที่ 20 ส.ค.-29 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกของพรรค NLD ถูกทำร้ายร่างกายและถูกหมิ่นประมาทจากฝ่ายตรงข้ามถึง 18 ครั้ง และยังถูกจำกัดในการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง เช่น ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านหรือเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ของทหารและทางราชการ โดยเฉพาะในเมืองซาบูทีรี เขตเนปีดอว์ ฐานเสียงสำคัญของพรรค USDP และเมืองปะเต่ง เมืองหลวงเขตอิรวดี

ทั้งนี้ผู้สมัครจากพรรค NLD และพรรคประชาธิปไตยสำหรับสังคมใหม่ (DPNS) ร้องเรียนว่า ที่หมู่บ้าน โพ ฉ่วย เมียะ โก่ง มีปัญหาข้อมูลและเลขบัตรประจำตัวของครอบครัวทหาร ถูกทางกองทัพรวบรวมนำไปเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว ขณะที่กลุ่มที่เฝ้าสังเกตการณ์ลงพื้นที่หาเสียง อย่างกลุ่ม People's Alliance for Credible Elections(PACE) ได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 27 ต.ค. พบพรรคการเมืองหลายพรรคติดสินบนประชาชนโดยพรรค USDP นั้น ติดสินบนประชาชนมากที่สุด มีทั้งการแจกข้าวของการบริจาคเงินช่วยเหลือวัดเพื่อหวังผลทางการเมืองไปจนถึงซื้อเสียง

นอกจากนี้ยังพบว่า มีปัญหารายชื่อตกหล่น รายชื่อเกิน การสวมรอยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยชาวเมียนมาในหลายประเทศที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ก็พบปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะแม้จะยื่นเอกสารขอเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วแต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งกลับไม่พบรายชื่อตนอยู่ในบัญชี ขณะที่แรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งคาดว่ามีอยู่ราว 3-4 ล้านคน พบมีแค่ 10,000 คน ที่ยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้าแต่ก็มีเพียง 500 คนเท่านั้นที่ได้เลือกตั้ง ทั้งนี้ชาวเมียนมาต้องกากบาทลงคะแนน 3 ใบ เพื่อเลือกผู้แทนไปสู่ 3 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและสภาภูมิภาค และสภารัฐ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง