กรมชลฯขวางไม่อยู่-ข้าวตั้งท้องต้องการน้ำ ระดมกว่า 600 เครื่อง-เร่งสูบแควน้อย-น้ำน่าน

สังคม
3 พ.ย. 58
08:29
121
Logo Thai PBS
กรมชลฯขวางไม่อยู่-ข้าวตั้งท้องต้องการน้ำ ระดมกว่า 600 เครื่อง-เร่งสูบแควน้อย-น้ำน่าน

แม้กรมชลประทานจะขอความร่วมมือชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา งดปลูกข้าวและสูบน้ำจากแม่น้ำสายต่างๆ แต่ขณะนี้มีสถานีสูบน้ำกว่า 300 แห่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทที่ยังสูบน้ำจากแม่น้่ำอย่างต่อเนื่อง และขอสูบน้ำจนถึงต้นเดือนธันวาคม

วันนี้ (3 พ.ย.2558) นายนิโรจน์ แจ้งแก้ว นายกอบต.มะขามสูง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก กล่าวว่า แม้กรมชลประทานจะขอความร่วมมือเกษตรกร ให้งดสูบน้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพราะน้ำในเขื่อนมีน้อย แต่ชาวนาต.มะขามสูง ยังสูบน้ำเข้านาตลอดเวลา หลังจากที่เริ่มมีน้ำในแม่น้ำแควน้อย เพื่อเลี้ยงนาข้าวกว่า 500 ไร่ที่กำลังตั้งท้องออกรวง  เพราะไม่อยากให้ข้าวตายเหมือนที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้าบ้านวังแร่ของอบต.มะขามสูง สูบน้ำจากแม่น้ำแควน้อยเข้าคลองชลประทาน

“น้ำที่สูบเข้านาตอนนี้เป็นนาข้าวเฉพาะที่จะเกี่ยวช่วงปลายเดือนพ.ย. ส่วนชาวนาที่ยังไม่ได้ปลูก ห้ามปลูกเด็ดขาด เพราะกรมชลประทานบอกว่า ถ้าสูบน้ำขึ้นมาจำนวนมาก จะส่งผลกระทบกับการใช้น้ำด้านล่าง”

ด้านนายประเชิญ พบสระบัว หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำฯ โครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า พิษณุโลกมีสถานีสูบน้ำของท้องถิ่น 66 สถานี ที่สูบน้ำจากแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำน่าน ขณะนี้เกษตรกรลุ่มแม่น้ำน่านบริเวณเหนือเขื่อนนเรศวร ร้องขอให้สูบน้ำจนถึงต้นเดือนธ.ค. ซึ่งการสูบน้ำดังกล่าวจะมีผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ตาก และอุทัยธานี มีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 348 สถานี และสถานีสูบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 189 สถานี ที่ขณะนี้ยังเดินเครื่องสูบน้ำและส่งน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำน่านลดลงอย่างรวดเร็ว

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หากชาวนายังไม่หยุดสูบน้ำ จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หายไปจากระบบประมาณ 70 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที หรือเท่ากับหายไปเกือบครึ่งของน้ำที่ระบายลงมา จากนี้ไปกรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ให้ไหลมาที่เขื่อนเจ้าพระยา 130 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที เพื่อให้พื้นที่ตั้งแต่จ.ชัยนาทลงมา มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคและมีน้ำเพื่อการผลักดันน้ำเค็ม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง