"อุรังอุตัง" เสี่ยงสูญพันธุ์เหตุแหล่งอาศัยถูกทำลาย-การลักลอบล่า

สิ่งแวดล้อม
12 พ.ย. 58
05:05
968
Logo Thai PBS
"อุรังอุตัง" เสี่ยงสูญพันธุ์เหตุแหล่งอาศัยถูกทำลาย-การลักลอบล่า

การส่งกลับอุรังอุตังเป็นอีกความพยายามของประชาคมโลกที่จะช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ไว้ แต่ท่ามกลางความพยายามอนุรักษ์อุรังอุตังของทั้งองค์กรท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ แต่ประชากรอุรังอุตังก็ยังลดน้อยลงและยังติดอยู่ในบัญชีสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นเพราะแหล่งอาศัยถูกทำลายและการลักลอบล่าอุรังอุตัง

ไฟป่าครั้งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 จนถึงขณะนี้ เผาผลาญพื้นที่ป่าบนเกาะสุมาตรา บอร์เนียวและกาลิมันตันไปแล้วกว่า 4.2 ล้านเอเคอร์ หรือกว่า 10.5 ล้านไร่

ผืนป่าดิบชื้นในอินโดนีเซียที่ถูกเผาผลาญเป็นบ้านของสัตว์ป่ามากมาย ซึ่งรวมถึงอุรังอุตัง สัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจะสูญพันธุ์ ซึ่งโฆษกมูลนิธิบอร์เนียว อุรังอุตัว เซอร์ไววัล ระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 เดือนจากนี้ จึงจะประเมินได้ว่าไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับประชากรอุรังอุตังมากน้อยแค่ไหน

ควันไฟจากการเผาป่ายังเป็นเหตุให้อุรังอุตังมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจไม่ต่างจากมนุษย์ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้พวกมันล้มตาย ไฟป่าที่เกิดขึ้นจากการเผาเพื่อเปิดพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้จำนวนอุรังอุตังตามธรรมชาติลดลง เพราะการลดลงของพื้นที่ป่ายังมีสาเหตุมาจากการตัดไม้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนซึ่งทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างคนกับสัตว์ป่า

ขณะเดียวกันความน่ารักของลูกอุรังอุตังก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง แม้อุรังอุตังจะอยู่ในบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์บัญชีที่ 1 ของไซเตส ซึ่งห้ามล่าและห้ามขาย แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจัดการกับกลุ่มพรานป่าที่ลักลอบจับลูกอุรังอุตังไปขายเป็นสัตว์เลี้ยงได้และบ่อยครั้งการล่าลูกหมายถึงการต้องฆ่าแม่

ผืนป่าบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวเป็นถิ่นอาศัยเพียงแห่งเดียวของอุรังอุตัง ซึ่งจากข้อมูลของ WWF ระบุว่า ปัจจุบันมีอุรังอุตังเหลืออยู่ในผืนป่าเกาะบอร์เนียวประมาณ 41,000 ตัว ส่วนอุรังอุตังสายพันธุ์สุมาตรา หลงเหลืออยู่เพียง 7,500 ตัวเท่านั้น จากที่มีอยู่มากกว่า 230,000 ตัว เมื่อศตวรรษก่อน

ทั้งนี้ อุรังอุตัง มีความหมายว่า คนแห่งป่า ในภาษาบาฮาซา พวกมันแยกกันอยู่โดดเดี่ยว อาหารหลักคือผลไม้ป่า อุรังอุตังมี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์บอร์เนียวและสายพันธุ์สุมาตรา ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์สังเกตจากขนบนใบหน้า อุรังอุตังสายพันธุ์สุมาตราจะมีขนหน้ายาวกว่าสายพันธุ์บอร์เนียว และจะผูกพันธุ์กับเครือญาติมากกว่าสายพันธุ์บอร์เนียว ขณะที่สายพันธุ์บอร์เนียว มักจะมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวติดพื้นดินมากกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง