ตอบคำถาม: ฤดูหนาวแล้ว แต่ทำไมยังไม่หนาว

19 พ.ย. 58
06:01
5,715
Logo Thai PBS
ตอบคำถาม: ฤดูหนาวแล้ว แต่ทำไมยังไม่หนาว

กำลังสงสัยกันใช่หรือไม่ว่าเข้าสู่ปลายเดือนพฤศจิกายนแล้ว ทำไมอากาศถึงยังไม่หนาว แถมยังร้อนอ้าวและมีฝนตกลงในหลายพื้นที่ของประเทศ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ขอคำอธิบายจากอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาถึงเรื่องนี้ คำตอบที่ได้อาจทำให้คนที่รอคอยลมหนาวต้องผิดหวังเพราะอธิบดีกรมอุตุฯ คาดว่าฤดูหนาวปีนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะหนาวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนภาคกลางตอนบนและกรุงเทพมหานครแทบจะไม่มีโอกาสสัมผัสอากาศหนาวเลย และเหตุที่เป็นเช่นนี้คาดว่าเป็นเพราะปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้วนับตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่าประเทศไทยตอนบนสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.2558 แม้ว่าหลายจังหวัดจะได้สัมผัสอากาศที่เย็นลงแล้วในบางช่วง แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ ยังไม่รู้สึกถึงลมหนาวเลย

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศฤดูหนาวปี 2558 ว่า อุณหภูมิจะไม่ต่ำเท่าปีที่ผ่านๆ มา อากาศหนาวจะมาเป็นระลอกๆ ในระยะเวลาสั้นๆ แล้วหายไป ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้มีลักษณะเช่นนี้คือปรากฏการณ์เอลนีโญ

"ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าค่าปกติ 1-2 องศา อากาศหนาวของไทยได้รับอิทธิพลจากขั้วโลกเหนือแถบมองโกเลีย รัสเซียและจีน ที่จะแผ่มวลอากาศเย็นลงมาทางตอนใต้ ส่งผลให้ไทยได้รับความเย็น แต่ปีนี้ซีกโลกเหนือไม่หนาวจัดและความหนาวไม่รุนแรง มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจึงไม่แรงพอที่จะทำให้ไทยมีอากาศหนาวนานต่อเนื่อง" นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยกล่าวว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มรู้สึกหนาวประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม แต่ก็จะหนาวเพียงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนภาคกลางตอนบนและกรุงเทพฯ อาจมีแค่อากาศเย็นเป็นบางวันเท่านั้น

เว็บไซต์กรมอุตุฯ อธิบายว่าปรากฏการณ์เอลนีโญคือ การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งเกิดจากการอ่อนกำลังลงของลมค้า ลักษณะของเอลนีโญที่ปรากฏให้เห็น เช่น  การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของผิวน้ำทะเล กระแสน้ำอุ่นที่ไหลลงทางใต้ตามชายฝั่งประเทศเปรู เกิดร่วมกับการอ่อนกำลังลงของลมค้าที่พัดไปทางทิศตะวันตกบริเวณแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร เวียนเกิดซ้ำแต่ช่วงเวลาไม่สม่ำเสมอ และเกิดแต่ละครั้งนาน 12-18 เดือน

สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2557 และเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2558 เอลนีโญครั้งนี้เป็นที่จับตาของนักวิทยาศาสตร์ นักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เนื่องจากเป็นเอลนีโญที่มีความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์และอาจจะรุนแรงกว่าเอลนีโญปี 1997 อีกด้วย

สก็อตต์ ซัทเธอร์แลนด์ นักอุตุนิยมวิทยาเขียนรายงานในเว็บไซต์ www.theweathernetwork.com เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ว่า เอลนีโญครั้งนี้ได้สร้างสถิติใหม่คือ อุณหภูมิเฉลี่ยในรอบสัปดาห์ของน้ำทะเลในบริเวณที่เรียกว่า "Nino 3.4" ในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าปกติถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในรอบ 25 ปี  สื่อต่างประเทศพากันเรียกเอลนีโญปี 2015 นี่ว่าเป็น "ปิศาจเอลนีโญ" (Monster El Nino)

สก็อตต์อธิบายเพิ่มเติมว่าในการติดตามสถานการณ์เอลนีโญ นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งพื้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรออกเป็น 4 ส่วน โดยมีชื่อเรียกว่า Nino 1+2, Nino 3, Nino4 และ Nino 3.4 บริเวณที่อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยในรอบ 1 สัปดาห์สูงทำลายสถิติปีนี้ คือ บริเวณ Nino 3.4 นั่นเอง ในปีเอลนีโญ 1997 อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลในบริเวณ Nino 3.4 ช่วงเดือนพฤศจิกายนก็ยังเลย 2.5 องศาเซลเซียสมานิดหน่อยเท่านั้น

                          

<"">

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรว่าเดือนตุลาคม 2558 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าปกติ และมีค่าสูงสุดประมาณ 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตรมีค่าสูงกว่า 6 องศาเซลเซียส และขยายพื้นที่มากขึ้น

"จากความผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกและระบบบรรยากาศในเขตศูนย์สูตรมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัตแล้ว เป็นปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังแรง" รายงานของศูนย์ภูมิอากาศระบุและคาดการณ์ผลกระทบต่อประเทศไทยไว้ว่าผลกระทบจากเอลนีโญต่อประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมจะไม่ชัดเจนเท่าช่วงต้นฤดูฝน แต่จะทำให้อุณหภูมิของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ

แต่ประเทศไทยไม่ได้ "ร้อน" อยู่ประเทศเดียว องค์การบริหารจัดการด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์สภาพอากาศโลกประจำเดือนตุลาคม 2015 และพบว่าอุณหภูมิผิวดินและผิวน้ำทะเลวัดได้สูงที่สุดในรอบ 136 ปี และนับเป็นเดือนที่ 6 ในปีนี้ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงทำลายสถิติ

NOAA รวบรวมข้อมูลจากหลายประเทศซึ่งรายงานตรงกันว่าเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ร้อนผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย (อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1961-1990 เกือบ 3 องศาเซลเซียส) นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และหมู่เกาะฟาโร

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า (2559) และจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในฤดูหนาวของหลายประเทศทั่วโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง