วิเคราะห์แนวโน้มเผชิญหน้า "รัสเซีย-ตุรกี" หลังเหตุการณ์ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตก

ต่างประเทศ
25 พ.ย. 58
15:21
307
Logo Thai PBS
วิเคราะห์แนวโน้มเผชิญหน้า "รัสเซีย-ตุรกี" หลังเหตุการณ์ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตก

เหตุเครื่องบินตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตกเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.2558) ทั้งรัสเซียและตุรกีต่างยืนยันในจุดยืนของตัวเอง ซึ่งยิ่งเพิ่มความซับซ้อนกับสถานการณ์ในซีเรียยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่การช่วยเหลือนักบินรัสเซีย ล่าสุดพบตัวบินอีกคนที่ดีดตัวออกมาจากเครื่องบินแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์จากหลายแห่งมองว่าเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่ความตึงเครียดที่อาจเกิดการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองประเทศ

วันนี้ (25 พ.ย.2558) รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิตาร์ทาสส์ว่า หลังจากที่เครื่องบิน SU-24 ของรัสเซียถูกยิงตก กองทัพได้ส่งกองกำลังเข้าไปปฏิบัติการพิเศษในซีเรียเพื่อช่วยเหลือนักบินออกมา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และตอนนี้นักบินถูกส่งตัวไปที่ฐานทัพอากาศของรัสเซียแล้ว โดยยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี รัฐบาลขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องและเสี่ยงอันตรายในปฏิบัติการช่วยเหลือนักบิน โดยนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ทราบข่าวนี้แล้วและฝากขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ผู้นำรัสเซียยังมีคำสั่งให้มอบเหรียญกล้าหาญให้กับนักบินและทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ทุกคน ส่วนนักบินที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกกลุ่มกบฏในซีเรียยิงขณะร่มชูชีพใกล้จะถึงพื้นดินจะได้รับเหรียญกล้าหาญขั้นสูงสุดคือ "วีรบุรุษแห่งรัสเซีย"

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวรัสเซียเตรียมติดตั้งระบบต่อต้านอากาศยาน S-400 ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในฐานทัพอากาศของรัสเซียที่อยู่ในซีเรีย นอกจากนี้รัสเซียต้องการสร้างคณะทำงานร่วมเพื่อปราบปรามกลุ่มไอเอสโดยเฉพาะ ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวประกอบไปด้วยฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และหากประเทศใดที่ต้องการเข้าร่วมก็สามารถทำได้ รวมถึงประเทศตุรกีด้วย

นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีของตุรกี กล่าวย้ำอีกครั้งว่าก่อนที่กองทัพตุรกีจะยิงเครื่องบินของรัสเซียตก เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนไปแล้วถึง 10 ครั้งในเวลา 5 นาที แต่ในที่สุดเครื่องบินของรัสเซียก็รุกล้ำน่านฟ้า ตุรกีได้ชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ให้คณะมนตรีความมั่นคงและนาโต้รับทราบแล้ว พร้อมยืนยันว่าตุรกีไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับรัสเซีย

ด้านนางแองเกลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี กล่าวว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้กระบวนการหาทางยุติความขัดแย้งในซีเรียซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่ให้มากขึ้นไปกว่าเดิม แม้ว่าทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะปกป้องอธิปไตยของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องตระหนักว่าสถานการณ์ในซีเรียตอนนี้ตึงเครียดแค่ไหน

เครื่องบินขับไล่เอฟ 16 ของตุรกีที่โจมตีเครื่องบินรบ SU-24 ของรัสเซียจนตกบริเวณเทือกเขาในเมืองลาตาเกียของซีเรียเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ยิงเครื่องบินของรัสเซีย

การโจมตีของตุรกีอย่างอุกอาจในครั้งนี้ส่อเค้าว่าจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและตุรกีทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ เรียกประชุมฉุกเฉินและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยืนหยัดเคียงข้างตุรกี

นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการจัดตั้งแนวร่วมของรัสเซีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาเพื่อปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส ที่มีฐานที่มั่นในอิรักและซีเรียในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหลังเกิดเหตุก่อการร้าย 6 จุดทางตอนเหนือของกรุงปารีสเมื่อคืนวันที่ 13 พ.ย.

นายอเล็กซานเดอร์ โกลท์ นักวิเคราะห์ด้านการทหาร มองว่าการตอบโต้ของรัสเซียต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปอย่างเข้มข้นและหนักหน่วง เนื่องจากการยิงเครื่องบินรัสเซียครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุแต่เป็นการกระทำโดยเจตนาจากฝ่ายตุรกี

ขณะที่นายลินเดอร์ โจเซฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการปราบปรามการก่อการร้าย ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการยั่วยุทางทหาร แม้ว่าตุรกีจะไม่ได้ประกาศสงครามต่อต้านรัสเซียอย่างเป็นทางการก็ตาม ซึ่งการตอบโต้ของรัสเซียนั้นขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ทางการตุรกีว่าจะออกมาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจของอังกฤษ มองว่าความต้องการด้านพลังงานของตุรกีเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเปิดโอกาสให้รัสเซียและตุรกีใช้วิธีทางการทูตในการหาทางออกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เนื่องจากรัฐบาลตุรกียังมีแผนสร้างท่อส่งแก๊สหรือเตอร์กิชสตรีมมาจากรัสเซีย

แนวโน้มของความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปว่าองค์การนาโต้และรัสเซียจะหาทางออกอย่างไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง