เมื่อนักแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับเอลิสต์เสื่อมมนต์ขลัง เตือนค่ายหนังพึงระวังทุ่มค่าตัว

Logo Thai PBS
เมื่อนักแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับเอลิสต์เสื่อมมนต์ขลัง เตือนค่ายหนังพึงระวังทุ่มค่าตัว

ความเชื่อที่ว่ายิ่งดารามีชื่อเสียงมากเท่าไร จะช่วยให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นทำเงินมากขึ้น แต่ในปัจจุบันไม่เป็นจริงเสมอไป เห็นได้จากภาพยนตร์หลายเรื่องของปีนี้ (2558) ที่แม้จะใช้นักแสดงเกรดเอลิสต์หรือระดับท็อปของวงการฮอลลีวูดนำแสดง แต่หลายเรื่องก็พลาดล้มเหลวทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ ทำให้ผู้สร้างหนังและสตูดิโอต้องหันกลับมาทบทวน ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (29 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นโอกาสที่หาชมกันได้ไม่ง่ายนัก เมื่อ แบรด พิตต์ และ แองเจลินา โจลี คู่รักทรงอิทธิพลที่สุดของฮอลลีวูด กลับมาควงคู่แสดงนำในรอบ 10 ปี ทว่า ภาพยนตร์เรื่อง (By The Sea) ที่ทั้งคู่เล่นด้วยกัน กลับทำรายได้เปิดตัวไม่ถึงครึ่งของทุนสร้าง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซ้ำร้ายเสียงวิจารณ์ยังติดลบอย่างน่าใจหาย

แม้แต่ ภาพยนตร์เรื่อง จูปิเตอร์ แอสเซนดิง (Jupiter Ascending) ที่แม้จะได้นักแสดงชายดีกรีรางวัลออสการ์ปีล่าสุด เอดดี เรดเมย์น แต่ฟอร์มหนังที่ไม่น่าดู ทำให้จูปิเตอร์ติดอันดับภาพยนตร์ล้มเหลวที่สุดแห่งปี 2015 และยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในปีนี้ ที่ตั้งท่ามาดีด้วยรายชื่อของนักแสดงนำระดับบิ๊กเนม แต่กลับไม่ส่งให้ภาพยนตร์ทำเงินอย่างที่ตั้งใจ ทั้ง จอห์นนี เด็ปป์ นิโคล คิดแมน รวมถึง จอร์จ คลูนีย์ ซึ่งรายหลัง ภาพยนตร์ที่เจ้าตัวเล่นนั้นทำกำไรเพียง 4 เรื่องจากผลงานทั้งหมด 25 เรื่องตลอดชีวิตการแสดง ทั้งหมดในข้างต้นเป็นสิ่งที่สตูดิโอภาพยนตร์ต้องกลับมาทบทวน ว่าบารมีของนักแสดงตัวท็อปอาจไม่ได้ช่วยให้หนังประสบความสำเร็จเสมอไป

ดาราเอลิสต์ คือคำใช้เรียกนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เปี่ยมไปด้วยความสามารถทางการแสดง ส่งให้มีค่าตัวที่สูงและเป็นที่ต้องการของผู้กำกับและสตูดิโอภาพยนตร์ โดยตั้งแต่ยุคโกลด์เดนท์ เอจ ช่วงปลายปี 1920 ซึ่งเป็นช่วงเฟื่องฟูของสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูด แต่ละค่ายจะมีดาราแม่เหล็กเป็นของตัวเอง ปัจจุบันมีผู้สร้างไม่น้อยใช้ข้อต่อรองกับสตูดิโอเพื่อให้ค่ายอนุมัติการสร้างภาพยนตร์

หากอีกด้าน การที่หลายสตูดิโอยังหวังพึ่งบุญเก่าของดารา-นักแสดงกลุ่มนี้ ทั้งที่ภาพยนตร์หลายเรื่องไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าวงการฮอลลีวูดที่ยังก้าวไม่พ้นความเชื่อเดิม ว่านักแสดงดังจะช่วยให้ภาพยนตร์นั้นขายได้ โดย เอส อับราฮัม ราวิด อาจารย์ด้านการลงทุนมหาวิทยาลัยนิวยอร์กวิเคราะห์ว่า การเชิดชูนักแสดงว่าช่วยให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นเพียงแค่มายาคติเท่านั้น เขาระบุว่านักแสดงอาจช่วยให้นิตยสารขายได้ แต่ไม่ใช่กับภาพยนตร์ที่ต้องอาศัยการเล่าเรื่องที่ดี

ในยุคที่คาดการณ์ได้ยากว่าหนังเรื่องไหนจะทำเงินได้ การเลือกนักแสดงเอลิสต์อาจพอช่วยให้สตูดิโอใจชื้นว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเรียกคนดูได้บ้าง ซึ่งแหล่งข่าววงในจากฮอลลีวูดเผยว่า ภาพยนตร์ที่แย่หากได้นักแสดงบิ๊กเนมมาแสดงสัก 1-2 คน ก็พอช่วยชดเชยได้เพราะคนดูได้เห็นนักแสดงที่ตนชื่นชอบ แต่หากมองในแง่ของผู้ชม การซื้อตั๋วหนังซักเรื่องส่วนมากมักมาพร้อมความคาดหวังในตัวหนัง ฉะนั้น ค่ายใหญ่คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะยอมทุ่มค่าตัวให้นักแสดงเอลิสต์เป็นหลักล้านดอลลาร์ แต่อาจต้องเจ็บตัวเมื่อหนังเรื่องนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าหรือไม่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง