อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีฯวิพากษ์ : ปัญหาการจัดเรียงช่อง 1-36 ของกสทช.

สังคม
1 ธ.ค. 58
00:50
1,444
Logo Thai PBS
อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีฯวิพากษ์ : ปัญหาการจัดเรียงช่อง 1-36 ของกสทช.

เดือนที่ผ่านมาเคเบิลท้องถิ่นกลับมาถูก กสทช. ออกกฎการเรียงช่อง 1-36 เข้ามาเล่นงานอีกครั้ง หลังจากดูเหมือนเรื่องจะสงบไปแล้ว ทั้งนี้เพราะกสทช.ถูกทีวีดิจิทัล 5 ช่องฟ้องเรียกค่าเสียหาย 9,500 ล้าน โครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นกับโครงข่ายทีวีดาวเทียมจึงต้องมารับบทเป็น "แพะ" ในสายตาของ กสทช. อีกครั้ง อาวุธต่างๆของ กสทช. จึงออกมาทิ่มใส่ "แพะ" อีกครั้ง เมื่อไม่มีทางออก สุดท้าย "แพะ" ก็ต้องไปพึ่งบารมีของศาลปกครองให้ช่วยเหลือ

ตามเป้าหมายที่ กสทช. ตั้งใจไว้แล้วว่า จะโยนปัญหาต่างๆ ทั้งหมดที่ตนเองสร้างขึ้นมา ให้เป็นภาระของศาลปกครองท่านเป็นผู้ตัดสินต่อไป คิดแล้วก็เศร้า และเสียดายคนดีๆ ในกสทช. ที่ต้องมาเสียคนเพราะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้ทางผลประโยชน์ของภาคเอกชน อ่านรายละเอียดได้ในบทความ “ปัญหาการจัดเรียงช่อง 1-36 ของ กสทช.”

สิ่งที่กสทช.กำลังแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องในเวลานี้ แทบไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า ลิงแก้แห เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง คงไม่ลืมว่า กสทช.ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของสาธารณะ กสทช.ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

ปัญหาทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เกิดจากกสท. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ คือกลุ่มโครงข่ายทีวีดาวเทียมและกลุ่มโครงข่ายเคเบิลทีวี ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ กสท. ไม่ต้องเข้าไปทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้ เพราะคลื่นความถี่ที่ใช้เป็นคลื่นความถี่ของเอกชน ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดกสทช. ไม่ต้องเข้าไปทำหน้าที่จัดสรรให้และไม่ควรเข้าไปจัดการใดๆ หากไม่ได้ทำผิดกฎหมายปกติของบ้านเมือง

ส่วนเรื่องการทำหน้าที่ประโยชน์สาธารณะ ช่องทีวีธุรกิจทั้ง 24 ช่อง เขาเป็นภาคเอกชน ผลิตช่องรายการเพื่อประโยชน์ทางการค้า เข้าประมูลช่องและเสนอผลประโยชน์ให้ กสทช. ก็เพื่อนำไปทำประโยชน์ทางการค้า ไม่ได้นำไปทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเหมือนช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ดังนั้นกสทช. ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งของภาคเอกชนกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ เอกชนควรนำปัญหาไปเจรจากันเอง นอกจากกลุ่มดังกล่าวจะทำให้สาธารณะเสียหาย หรือมีบางรายไปใช้อำนาจเหนือตลาดที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กสทช. จึงควรเข้าไปยุ่ง หาก กสทช.กำหนดบทบาทของตนเองไว้เพียงเท่านี้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเหมือนทุกวันนี้ และจะมีเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะตามจุดประสงค์ของการตั้ง กสทช. ขึ้นมาได้มากกว่าทุกวันนี้มาก

ในอดีตก่อนที่จะมี กสทช.

เคเบิลท้องถิ่น โดยสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย พยายามจะเจรจากับช่องรายการฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, Nbt และ ThaiPBS เพื่อขอให้ออกหนังสืออนุญาตให้เคเบิลท้องถิ่น สามารถนำช่องฟรีทีวีดังกล่าว ไปเผยแพร่บนโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากช่อง 5, 9, Nbt และ Thai PBS แต่ช่อง 3 กับช่อง 7 ไม่ยอมออกหนังสืออนุญาตแบบเป็นทางการให้ ด้วยเหตุผลว่า อาจมีบางรายการในช่องดังกล่าวไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเผยแพร่บนโครงข่ายเคเบิลทีวี เพราะรายการที่ซื้อมาบางรายการอาจมีลิขสิทธิ์ที่จะเผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวีเท่านั้น แต่ถ้าเคเบิลท้องถิ่นจะนำไปเผยแพร่ทางช่องก็จะไม่ว่าอะไร

เมื่อเกิดกสทช. ขึ้นในปี 2555

กสทช. มีนโยบายจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวีให้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น แต่ผู้ที่จะขอใบอนุญาตต้องแจ้งผังช่องรายการที่เผยแพร่ พร้อมทั้งแนบใบอนุญาตสิทธิการเผยแพร่ช่องรายการไปด้วย ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นยังไม่มีใบอนุญาตสิทธิจากช่อง 3 และช่อง 7 สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยจึงเสนอในที่ประชุมกสท.หลายครั้ง เพื่อขอให้กสท. ออกกฎ Must Carry เพื่อให้โครงข่ายโทรทัศน์ทุกโครงข่ายในประเทศไทย สามารถนำช่องรายการฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, Nbt และ Thai PBS ไปเผยแพร่ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากช่องฟรีทีวีดังกล่าว เพราะถึงอย่างไรทุกโครงข่ายก็จำเป็นต้องนำช่องรายการฟรีทีวีดังกล่าวไปเผยแพร่อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือก็ตาม แต่สุดท้าย กสท.ก็ไม่ได้ออกกฎ Must Carry ให้

กสทช.จะเปิดประมูลช่องทีวีภาคพื้นดินระบบทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องในปี 2556

กสทช. มีแผนจะปิดช่องรายการฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบ Analog 6 ช่องคือ 3, 5, 7, 9, Nbt และ Thai PBS ภายใน 5 ปี โดยจะเปิดช่องรายการฟรีทีวีขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน 6 ช่องเดิม แต่จะทำเป็นฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล แทนเพราะในการใช้คลื่นความถี่ที่เท่ากัน ระบบดิจิทัลจะสามารถได้ช่องรายการมากกว่าหลายเท่าและได้คุณภาพสัญญาณทั้งระบบ SD และ HD ซึ่ง กสทช.กำหนดให้มีช่องรายการฟรีทีวีไว้ 48 ช่อง แบ่งออกเป็น ทีวีชุมชน 12 ช่อง ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง และทีวีธุรกิจ 24 ช่อง โดยในเรื่องทีวีชุมชนกับทีวีสาธารณะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นช่องรายการเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและสังคมโดยรวม ไม่มีการเปิดประมูลและไม่มีการหารายได้จากการโฆษณาในทางธุรกิจเป็นหลัก แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาในเวลานี้คือช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่อง เนื่องจากเป็นช่องที่ออกมาเพื่อหาประโยชน์ในทางธุรกิจ โดยสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง จึงจำเป็นต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้ชนะ และได้เงินเข้ารัฐ เพราะเป็นการนำคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติไปให้เอกชนหาประโยชน์

การเปิดประมูลช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องของทีมงาน กสท.

หากเป็นการเปิดประมูลตามปกติ เพื่อให้ช่องฟรีทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องดังกล่าว สามารถเผยแพร่ได้เฉพาะบนโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลตามขอบเขตที่มีการเปิดประมูลแล้ว มูลค่าการประมูลช่องรายการทั้ง 24 ช่องควรจะได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีอายุสัญญา 15 ปีเท่านั้น

การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 G ของทีมงาน กทช.

แต่ทีมงานกสท.ที่กำกับดูแลด้านกิจการโทรทัศน์ ต้องการแสดงให้เห็นว่าทีมงานนี้เก่งกว่าทีมงาน กทช.ที่ดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม ในการหารายได้เข้ารัฐ จากการนำคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของชาติไปประมูลเพื่อหาเงินเข้ารัฐ เพราะก่อนที่จะมีการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิทัล ทีมงานกทช.ได้เปิดประมูลคลื่นโทรคมนาคม 3 G แล้วเกิดข้อครหาว่า ทีมงานกทช.จัดประมูลโดยเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จนทำให้ผลการประมูลได้ราคาเท่ากับราคาตั้งต้นที่ทีมงาน กทช.ตั้งไว้นั้นแสดงว่า ไม่เกิดการแข่งขันในการประมูลคลื่นดังกล่าว ในครั้งนั้นทีมงาน กทช.จึงถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน

กสทช.ยึดเอาช่องรายการของโครงข่ายทีวีดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวีไปร่วมประมูล

เมื่อทีมงานกสท.จะจัดประมูลคลื่นความถี่ช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องบ้าง จึงอาจต้องแสดงให้เห็นว่า ทีมงาน กสท. เก่งกว่าด้วยการหาทางให้เกิดการแข่งขันที่สูง และต้องได้เงินค่าประมูลที่สูงกว่าราคาตั้งต้นให้มากทีมงาน กสท.จึงได้ไปสัญญากับผู้จะเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลทางธุรกิจว่า ช่องรายการทั้ง 24 ช่องดังกล่าว ไม่ได้เผยแพร่เฉพาะในโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ตามหลักการในการจัดประมูลเท่านั้น แต่กสท.จะไปออกกฎเพื่อบังคับให้โครงข่ายทีวีดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี ให้เอาช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินทั้ง 24 ช่องไปเผยแพร่ด้วย และจะบังคับให้เผยแพร่ในตำแหน่งช่องรายการที่กสท.กำหนดไว้ด้วย เพื่อให้ช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องสามารถเผยแพร่ได้ทั่วประเทศในทุกโครงข่ายตามตำแหน่งช่องรายการที่กสท.กำหนด

นั่นแสดงว่า การจัดประมูลช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่องไม่ได้เป็นการจัดประมูลเพื่อให้ได้เผยแพร่บนโครงข่ายภาคพื้นดินเท่านั้น แต่เป็นการจัดประมูลเพื่อให้ได้เผยแพร่ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีพร้อมกันทั้ง 3 โครงข่ายทั้งๆ ที่โครงข่ายทีวีดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวีเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่กสท.อาศัยอำนาจในการออกใบอนุญาตที่มีอยู่มาบังคับ ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องเอาช่องรายการที่เป็นสมบัตที่ตนเองลงทุนสร้างขึ้นมา ด้วยเงินทุนของตนเอง ไปมอบให้ กสท. เพื่อให้กสท.เอาไปขาย (จัดประมูล) ต่อให้กับช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง โดยไม่เคยถามว่าทั้ง 2 โครงข่ายดังกล่าวจะเต็มใจหรือยินยอมหรือไม่ และไม่เคยบอกหรือสัญญากับทั้ง 2 โครงข่ายว่าจะให้ผลประโยชน์อะไรตอบแทนกับโครงข่ายทั้ง 2 ในการมาบังคับเอาตำแหน่งช่องรายการทั้ง 24 ช่องดังกล่าว ไปให้เอกชนอีกกลุ่มหนึ่งหาประโยชน์ จากการจัดประมูลดังกล่าว

กสทช. ออกกฎหมายสอดไส้

ดังนั้น เพื่อให้สามารถได้ตำแหน่งช่องรายการของโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี มาร่วมเสนอในการประมูลตามที่ได้สัญญากับช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ก่อนจัดประมูลกสท.จึงออกกฎ Must Carry ขึ้นมา (สมัยก่อนขอให้ออกอย่างไรก็ไม่ยอมออก) โดยการกำหนดว่า ช่องฟรีทีวีทุกช่อง (หมายถึงช่อง 3, 5, 7, 9,Nbt และ Thai PBS) ทุกโครงข่ายที่ได้รับอนุญาตจากกสทช.จะต้องนำไปเผยแพร่ตลอด 24 ชั่วโมง นั่นแสดงว่า เมื่อออกกฎ Must Carry แล้ว การนำช่อง 3, 5, 7, 9, Nbt และ Thai PBS ไปเผยแพร่ จะเป็นหน้าที่ที่ต้องปฎิบัติแล้ว ทุกโครงข่ายไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาต สิทธิการเผยแพร่จากทางช่องทั้ง 6 ช่องอีกต่อไป

กลุ่มโครงข่ายทีวีดาวเทียมกับกลุ่มโครงข่ายเคเบิลทีวีก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นความต้องการให้ออกกฎข้อนี้นานมาแล้ว แต่ไม่ได้สังเกตว่า กฎ Must Carry ดังกล่าว ได้สอดไส้กำหนดไว้ด้วยว่า ช่องรายการฟรีทีวี ที่หมายถึง ช่องดิจิทัล 36 ช่องใหม่คือ ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่องและช่องทีวีธุรกิจ 24 ช่องด้วย นั่นแสดงว่า ช่องทีวีทางธุรกิจ 24 ช่อง ก็ถูกจัดให้เป็นกลุ่มช่องรายการฟรีทีวี ที่ทุกโครงข่ายต้องนำไปเผยแพร่ให้ครบทุกช่องด้วย ความจริงแล้วช่องฟรีทีวีควรจะให้หมายถึงเฉพาะช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่องก็พอ เพราะเป็นช่องรายการที่ตั้งใจให้ผลิตขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณ ส่วนช่องทีวีทางธุรกิจ 24 ช่องไม่ควรได้รับสิทธิให้เผยแพร่ในทุกโครงข่ายโดยอัตโนมัติเช่นนี้

กสทช. ออกกฎหมายขายตำแหน่งช่อง

นอกจากจากนั้นกสท.ยังได้ออกกฎเรื่องการจัดลำดับช่องรายการเพิ่มขึ้นมา โดยให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี ต้องจัดลำดับช่องรายการฟรีทีวี (36) ช่องตามที่กสท.กำหนด ซึ่งในขณะนั้นกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งช่องที่ 11-46 โดยเว้นช่อง 1-10 ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีสามารถนำช่องรายการอะไรก็ได้ไปเผยแพร่ในตำแหน่ง 10 ช่องดังกล่าว

กสทช. ตั้งใจออกกฎหมายยึดทรัพย์ช่องรายการโครงข่ายดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวี

เมื่อนำกฎ Must Carry มาบวกกับกฎการจัดลำดับช่องรายการ จึงทำให้ช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง สามารถเผยแพร่ได้ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีได้ ในตำแหน่งช่องรายการที่กสท.กำหนดด้วย นั่นหมายความว่า เพียงการออกกฎ 2 ข้อดังกล่าว กสทช.ก็สามารถยึดเอาตำแหน่งช่องรายการ 24 ช่องของโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี ไปเปิดประมูลให้ช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง เสนอราคาร่วมในการประมูลเสนอเงินให้ กสทช.ได้โดยกสทช.ไม่ต้องลงทุนใดๆ

มูลค่าโครงข่ายดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี 24 ช่องราคา 35,000 ล้านบาท

ดังนั้นในการจัดประมูลช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เพื่อเผยแพร่บนโครงข่ายภาคพื้นดินจึงมีราคาตั้งต้นที่ 15,000 บาท แต่เมื่อสามารถมาเผยแพร่บนโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีได้ด้วย ราคาค่าประมูลช่องจึงสูงขึ้นจาก 15,000 ล้านบาทกลายเป็น 50,000 ล้านบาทในทันทีที่กฎดังกล่าวออกมา จะสามารถบอกได้หรือไม่ว่า เงิน 35,000 ล้านบาทที่งอกออกมาจากการจัดประมูล 24 ช่อง คือจำนวนเงินที่กสทช.ได้มาจากการนำตำแหน่งช่องรายการ 24 ช่องของโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี ไปเปิดประมูลให้ทั้ง 24 ช่องเสนอราคา โดยกสทช.ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ให้กับโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีเลย แถมยังขู่ทั้ง 2 โครงข่ายว่า หากไม่ยอมทำตามกฎดังกล่าว จะต้องถูกปรับ ถูกลงโทษหรือไม่ก็ถูกยึดใบอนุญาตอีกต่างหาก

กสทช. ต้องการให้คนไทยดูทีวีผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น

นอกจากนี้ กสทช.มีความต้องการที่จะยุติการให้บริการทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก 6 ช่อง และต้องการให้โครงการทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนโดยเร็ว จึงวางแผนที่จะแจกคูปอง 690 บาทเพื่อแจกให้ประชาชนทั้ง 23 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย นำไปใช้เป็นส่วนลดในการแลกซื้อกล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน เพื่อนำไปใช้ทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก ซึ่งตามแผนการดังกล่าวหากทำสำเร็จ คนไทยทุกครัวเรือนจะมีกล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน 1 กล่องภายในบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งอาจตีความได้ว่า คนไทยทุกคนจะเปลี่ยนวิธีการรับชมทีวีจากระบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก 6 ช่อง ผ่านโครงข่ายดาวเทียม หรือโครงข่ายเคเบิลทีวีทางสาย มารับชมผ่านโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิทัลที่มี 48 ช่องได้ทันที โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งอาจจะตีความต่อไปได้ว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ประชาชนทุกครัวเรือนจะหันมารับชมช่องรายการผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น ดังนั้นงบโฆษณา 60,000 ล้านบาท/ปี ที่เคยอยู่ที่ช่อง 3,5,7,9 ในระบบแอนะล็อก และช่องทีวีดาวเทียมหรือช่องของเคเบิลทีวี จะถูกถ่ายโอนมาอยู่ที่ช่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินทั้ง 24 ช่องทั้งหมด โดยเม็ดเงินค่าโฆษณาดังกล่าวจะไม่กระเด็นไปยังช่องทีวีผ่านดาวเทียมหรือช่องเคเบิลทีวีได้เลย

กฎ Must Carry คืออาวุธ

กสทช. เชื่อว่าในช่วงแรกของการดำเนินการหลังจากเปิดประมูลสำเร็จ กว่าจะได้เงินค่าประมูล กว่าจะแจกคูปองให้ประชาชน กว่าประชาชนจะนำคูปองไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล คงต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นเพื่อให้ช่องรายการทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องมีคนดูทันทีที่มีการออกอากาศ เพื่อให้ได้เม็ดเงินโฆษณาในทันที การมีกฎ Must Carry จึงเป็นคำตอบ เพราะประชาชนจะสามารถรับชมช่องรายการทั้ง 24 ช่องผ่านโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีไปพรางก่อน รอจนกว่าโครงข่ายดิจิทัลภาคพื้นดินจะเรียบร้อย ซึ่งในระหว่างนี้เม็ดเงินโฆษณาอาจจะกระเด็นไปสู่ช่องทีวี Analog 3,5,7,9 รวมทั้งช่องทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีบ้าง ก็ต้องยอมไปก่อน รอให้โครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลพร้อมเมื่อไร ค่อยยกเลิกกฎ Must Carry (ตามแผนเดิมน่าจะยกเลิกภายใน 2 ปี) ในส่วนที่กำหนดว่า ช่องทีวีทางธุรกิจทั้ง 24 ช่อง เป็นช่องฟรีทีวีออกไป เพื่อไม่ให้กลุ่มโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี สามารถเอาช่องทีวีดิจิทัลที่มีคุณภาพทั้ง 24 ช่องไปออกอากาศได้ หากประชาชนต้องการดู จะต้องดูผ่านโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น งานนี้หากแผนการสำเร็จ ประชาชนจะต้องไม่ดูทีวีผ่านโครงข่ายทีวีดาวเทียมหรือโครงข่ายเคเบิลทีวี เพราะไม่มีช่อง 3, 5, 7, 9 เพราะทั้ง 4 ช่องและช่องอื่นๆ อีก 20 ช่องจะกลายเป็นช่องทีวีปกติที่ไม่ต้องทำตามกฎ Must Carry ใครต้องการเอาไปเผยแพร่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางช่องดังกล่าวก่อน งานนี้หาก 24 ช่องดังกล่าวได้รับความนิยมจากประชาชนและทั้ง 24 ช่องจับมือกัน เจ้าของช่องทั้ง 24 ช่องอาจกลับลำมาเรียกเก็บเงินค่านำช่องไปเผยแพร่จากโครงข่ายทีวีดาวเทียมหรือโครงข่ายเคเบิลทีวีก็ได้ งานนี้ "หมูจะกลายเป็นเสือ และเสือก็จะกลายเป็นหมู" ไปในทันที

โครงข่ายดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวีคือ "นั่งร้าน" ของโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัล

หากกสทช.มีแผนทำเช่นนี้ ก็เท่ากับว่ากสทช.ใช้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวีเป็นนั่งร้าน เพื่อรอให้โครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลพร้อมก่อน เมื่อพร้อมแล้วก็จะรื้อนั่งร้านออกไปกองกับพื้น เพื่อให้โครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลกลายเป็นโครงข่ายทีวีหลัก โครงข่ายทีวีเดียวของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้กลุ่มช่องรายการทางธุรกิจทั้ง 24 ช่องได้เม็ดเงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์ 60,000 ล้านบาท/ปี ไปทั้งหมด ส่วนกลุ่มช่องรายการที่ให้บริการผ่านโครงข่ายอื่นๆก็จะหมดความหมายไปทันที เพราะไปเผยแพร่ในโคงข่ายทีวีดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี ที่ไม่มีคนดูอีกต่อไป

ทีวีดิจิทัล 24 ช่องหาโฆษณาไม่ได้ ใครคือแพะ

แต่ช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา แผนที่ กสทช. วางไว้ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปรากฎว่ากลุ่มช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาได้น้อย เพราะเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่ยังอยู่ที่ 4 ช่องหลัก (3, 5, 7, 9) ที่เผยแพร่ในระบบแอนะล็อก ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินการเป็นจำนวนมาก หลายช่องเริ่มประสบปัญหาการจ่ายเงินค่าประมูลในงวดที่ 2 ให้กับกสทช. หลายรายเริ่มท้อ บางรายเริ่มถอดใจ ยุทธการหาแพะจึงเกิดขึ้น เพื่อตามหาว่าใครคือต้นเหตุของปัญหา ใครที่ทำให้แผนการยึดเม็ดเงินโฆษณา 60,000 ล้านบาท/ปีไม่สำเร็จ

ทีวีดิจิตอล 5 ช่องฟ้อง กสทช.

ฝันร้ายของกสทช.เริ่มเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มทีวีดิจิทัล 24 ช่องเริ่มออกมาเรียกร้องว่า สาเหตุที่ทำให้ได้เม็ดเงินโฆษณาเข้ามาไม่มากเพราะ Rating ต่ำ สาเหตุที่ Rating ต่ำเพราะ กสทช.ไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่ได้ให้สัญญากับช่องทีวีดิจิทัลได้ หรือคำสัญญาของกสทช. ทำให้กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลเข้าใจผิดว่า ในการจัดประมูลช่องรายการทั้ง 24 ช่อง เป็นการจัดประมูลเพื่อให้สามารถเผยแพร่ได้ทั้ง 3 โครงข่ายคือ โครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัล โครงข่ายทีวีดาวเทียม และโครงข่ายเคเบิลทีวี แต่เมื่อนำมาปฎิบัตจริง กสทช. ไม่สามารถทำได้ตามที่ได้สัญญาไว้ ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลเสียหาย เพราะหลงผิดไปเสนอราคาประมูลเพื่อเผยแพร่ใน 3 โครงข่าย แทนที่จะเสนอราคาเฉพาะการเผยแพร่บนโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเพียงระบบเดียวเท่านั้น การฟ้อง กสทช. เพื่อเรียกค่าเสียหายกว่า 9,500 ล้าน จาก กสทช. จากช่องทีวีดิจิทัลที่เป็นหน่วยกล้าตาย 5 ช่องจึงเกิดขึ้น

แพะที่ต้องถูกนำมาฆ่า

เมื่อเกมใหม่เริ่มเปิดออกมา กสทช.ก็ต้องหาแพะ เพื่อนำมาเป็นข้อต่อสู้ในศาล ความซวยก็เริ่มเกิดขึ้นกับกลุ่มโครงข่ายทีวีดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวี เพราะข้อต่อสู้ต่างๆ ส่วนหนึ่งพุ่งเป้ามาที่โครงข่ายทีวีดาวเทียม กับโครงข่ายเคเบิลทีวี ไม่ทำตามคำสัญญาที่กสทช.ไปสัญญาไว้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องดังนี้

1) กลุ่มเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ไม่จัดเรียงช่องรายการตามที่ กสทช. กำหนด เพราะมีข้อกล่าวหาว่า เคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ไม่นำช่องรายการทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องไปเผยแพร่ และไม่ทำการจัดเรียงช่องรายการตามที่กำหนด ซึ่งในครั้งแรกที่กสทช.ออกกฎเพื่อบังคับให้เคเบิลท้องถิ่นปฎิบัตตาม กลุ่มเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ได้ร้องเรียนไปที่กสทช.ว่า ไม่สามารถปฎิบัตตามได้เพราะการให้บริการในระบบแอนะล็อก มีช่องรายการน้อย และสมาชิกสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งช่องรายการได้เอง กลุ่มเคเบิลท้องถิ่นจึงทำหนังสือขออุทธรณ์ไปที่กสทช. และได้รับคำตอบว่า ให้เคเบิลท้องถิ่นที่ยื่นอุทธรณ์เข้าไปสามารถได้รับการผ่อนผันที่จะปฎิบัตตามคำสั่งดังกล่าวได้ แต่เมื่อเกิดกรณี ช่องทีวีดิจิทัลออกมาฟ้องกสทช. ทางกสทช.จึงกลับมติการอุทธรณ์คำสั่งโดยอธิบายว่า การผ่อนผันให้เคเบิลท้องถิ่นนั้น หมายความว่า ให้เคเบิลท้องถิ่นต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยหากเคเบิลท้องถิ่นไม่สามารถเปิดช่องรายการทีวีดิจิทัลได้ก็ไม่ต้องเปิดทุกช่อง แต่ถ้าหากต้องการจะเปิดต้องเปิดให้ครบทุกช่อง จะเลือกเปิดช่องใดช่องหนึ่งมาเผยแพร่ไม่ได้ หากไม่ทำตามคำสั่งจะถูกลงโทษ หรือยึดใบอนุญาต เมื่อเคเบิลท้องถิ่นถูกต้อนเข้าไปจนมุม เพราะหากทำตามคำสั่ง กสทช. สมาชิกต้องยกเลิกแน่เพราะความแตกต่างของการให้บริการจากโครงข่ายเคเบิลทีวีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน กับโครงข่ายดาวเทียม ที่ให้ดูฟรีจะไม่มี และหากเคเบิลท้องถิ่นไม่ทำตามก็จะถูกยึดใบอนุญาต การฟ้องศาลปกครองถึงเรื่องคำสั่งดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ทั้งๆที่เคเบิลท้องถิ่นไม่อยากฟ้อง กสทช. เลย แต่ไม่มีทางเลือกในการฟ้องดังกล่าว กลุ่มเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบดิจิทัลได้ ไม่ได้ร่วมฟ้อง กสทช. เพราะการให้บริการในระบบดิจิทัลยังสามารถปฎิบัตตามกฎ กสทช. ได้ ความจริงแล้วในเรื่องนี้ กสทช. ควรผ่อนผันให้เคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อกไปพลางก่อนเพื่อรอให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ให้บริการในระบบแอนะล็อก ดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านการให้บริการจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าว จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี หากสามารถทำได้ การฟ้องร้องระหว่างเคเบิลท้องถิ่นกับ กสทช. ก็จะไม่เกิดขึ้น

2) จะบังคับให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องจัดเรียงตำแหน่งช่องที่ 1-36  โดยจะต้องดำเนินการให้เหมือนกับที่มีการจัดเรียงช่องในโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน การเว้นช่อง 1-10 ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมกับโครงข่ายเคเบิลทีวี ตามคำสั่งเดิมจะยกเลิก หรือหากจะให้เว้นช่อง 1-10 ให้ ช่องรายการที่จะนำมาเผยแพร่ในตำแหน่งช่องที่ 1-10 จะต้องมีโฆษณาเพียง 6 นาที/ชั่วโมงเท่านั้น กฎต่างที่ กสทช. พยายามจะหาทางออกนี้ เป็นเรื่องที่ กสทช. กำลังจะแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจน ใครตัวใหญ่เสียงดัง กสทช. ก็จะลงมาดู และหาทางแก้ปัญหาให้ ออกกฎระเบียบต่างๆให้ ใครตัวเล็กเสียงค่อย กสทช. ก็จะไม่สนใจ การจัดเรียงช่อง 1-10 เป็นปัญหาภายในของกลุ่มทีวีดิจิทัล 24 ช่องเองที่ บางช่องไม่ต้องการให้ช่องอื่นๆไปหาทางทำแผนการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอด Rating โดยต้องการให้ทุกรายอยู่ในกรอบเดียวกัน ไม่ต้องคิดอะไรมาก นั่งอยู่เฉยๆ ทุกอย่างจะดีขึ้นมาเอง การจะออกกฎว่าใครมาอยู่ที่ตำแหน่งช่อง 1-10 จะมีโฆษณาได้ 6 นาที เป็นวิธีการปิดประตูตีแมวไปเรื่อยๆ หากใครหาทางออกได้ ก็จะออกกฎมาไล่ตามไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ กสทช. ก็จะมาทำหน้าที่แก้ปัญหารายวันไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยเหลือเอกชนบางรายที่เสียงดัง ให้เอาเปรียบเอกชนอีกรายที่เสียงไม่ดังให้ได้ ปัญหาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ สุดท้าย กสทช. ก็จะปล่อยปัญหาทุกอย่างให้ไปจบที่ศาล เพื่อให้ศาลเป็นคนตัดสิน หากแนวทางการทำงานของ กสทช. ต่อไปเป็นเช่นนี้ ก็ควรให้ศาลมาทำหน้าที่แทน กสทช. ไปเลยจะดีกว่าหรือไม่

ความจริงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจาก กสทช. ควรจะจัดประมูลช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องเฉพาะการเผยแพร่บนโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งกับโครงข่ายทีวีดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลทีวี หากช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องต้องการไปเผยแพร่บนโครงข่ายอื่นๆ ก็ควรปล่อยให้เอกชนไปทำหน้าที่เจรจาต่อรองกันเอง หาก กสทช. ต้องการจะเข้าไปยุ่งจริงๆ ก็ควรกำหนดเฉพาะช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่องเท่านั้นปัญหาจะได้ไม่เกิดเพราะไม่มีผลประโยชน์ในทางธุรกิจจากการหาโฆษณาเข้ามาเกี่ยวข้อง กสทช. ควรมองเฉพาะการแก้ปัญหาทางนโยบาย ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งของเอกชน เพราะหากเข้าไปตัดสินปัญหาของเอกชน จะมีคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งเสีย คนที่ได้ก็ชม กสทช. คนที่เสียก็จะฟ้องร้อง กสทช. ไปที่ศาลปกครอง สุดท้ายเมื่อหมดสมัยการทำหน้าที่เป็น กสทช. แต่ละคนก็จะต้องไปทำหน้าที่ต่อสู้ที่ศาลปกครองต่ออีกหลายปี ดีไม่ดีอาจโดนคดีแพ่ง คดีอาญาตามมาในฐานะส่วนตัวอีก คิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม กับการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ของภาคเอกชน กสทช. ควรมุ่งประโยชน์ไปที่สาธารณะตามหน้าที่ๆได้รับมาก็น่าจะพอ ส่วนภาคเอกชนก็ควรทำเพียงแค่เข้าไปกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการในแต่ละภาคส่วนไม่ควรไปแอบคุยนอกรอบกับเอกชนแต่ละรายที่ตัวใหญ่เสียงดัง แล้วมาออกคำสั่งให้เอกชนรายเล็กเสียงค่อยต้องทำตามคำสั่งยิบย่อยของ กสทช. อีกเลย

นายวิชิต เอื้ออารีย์วรกุล อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง